เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน Pitching ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์” ตามโครงการสร้างทักษะอนาคตเยาวชน (Future Youth Thailand) โดยมี ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผอ.สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. พร้อมด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ที่เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 10 ทีม และครูที่ปรึกษา เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น (Starfish Education) ดำเนินโครงการสร้างทักษะอนาคตเยาวชน (Future Youth Thailand) มุ่งพัฒนาทักษะแห่งอนาคตและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ผ่านกิจกรรมการแข่งขัน Pitching Season 1 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์” เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพื่อแก้ไขปัญหาความยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก โดยการแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีระดับชาติที่ได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วประเทศ มีทีมสมัครเข้าร่วมกว่า 200 ทีม จากหลากหลายภูมิภาค ทั่วประเทศ หลังจากผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น สู่สุดยอด 10 นวัตกรรม เข้าร่วมชิงชัย นำเสนอนวัตกรรม Pitching เพื่อคว้ารางวัลเกียรติยศระดับประเทศในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โดยมีผลการแข่งขัน ดังนี้

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รางวัลชนะเลิศ ระดับเหรียญทอง ได้แก่ ทีม PLANET PATCHERS นวัตกรรม “PLANET PATCHERS ผู้พิทักษ์รักษ์โลก” โรงเรียนตาลสุมพัฒนา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับเหรียญทอง ได้แก่ ทีม Science Devil นวัตกรรม Smart Box Air Fresher กล่องฟอกอากาศอัจฉริยะ โรงเรียนบ้านโคกสำราญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับเหรียญทอง ได้แก่ ทีม กล่องพลังใจ นวัตกรรม “กล่องพลังใจ” โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2

รางวัลระดับเหรียญเงิน ได้แก่ ทีม CHP Marketplace  นวัตกรรม “CHP Marketplace” โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 

รางวัลระดับเหรียญทองแดง ได้แก่ ทีม วิทย์ Kids ดี นวัตกรรม “เตาเผาไพโรไลซิสจากกระบวนการ STEAM Design Process” โรงเรียนป่าจี้วังแดงวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รางวัลชนะเลิศ ระดับเหรียญทอง ได้แก่ ทีม UT-Recycleนวัตกรรม “วัสดุเหลือทิ้งสู่อิฐมวลเบา (Waste Materials to Lightweight Bricks)” โรงเรียนอู่ทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุพรรณบุรี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับเหรียญทอง ได้แก่ ทีม KWIT-P101 นวัตกรรม “เครื่องวิเคราะห์และแจ้งเตือนสภาพอากาศเมื่อเกิดไฟป่า โดยใช้เทคโนโลยีไร้สาย” โรงเรียนขุนยวมวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับเหรียญทอง ได้แก่ ทีม Tech Nerd นวัตกรรม “The Automatic Mask Wrapping Machine” โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ

รางวัลระดับเหรียญเงิน ได้แก่ ทีม Deliveryนวัตกรรม “ผลิตภัณฑ์คุกกี้ข้าวโอ๊ตรสชาเขียวโดยใช้โปรตีนจากจิ้งหรีดผง” โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิจิตร

รางวัลระดับเหรียญทองแดง ได้แก่ ทีม SSP Safespaceนวัตกรรม “Safe Space เมืองปลอดภัยสำหรับทุกคน” โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรปราการ

และรางวัล Popular Vote ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากการแข่งขันบน Facebook Starfish Labz ได้แก่ ทีมธาตุทองซาวด์ ห้อง EIS 2 กับนวัตกรรม “โคมไฟเปเปอร์มาเช่พลังงานแสงอาทิตย์”

ทั้งนี้ นอกจากการแข่งขันแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และทักษะ เช่น  Panel Discussion ในหัวข้อ “Designing the Future: นวัตกรรมเพื่อโลกที่ยั่งยืน” Workshop Future Youth Ambassadors ปั้นผู้นำโครงการสร้างทักษะอนาคตเยาวชน (Future Youth Thailand) นักเรียนและคณะครูที่เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์และสนุกสนาน

และยังมีพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรด้านการศึกษา โดยมอบรางวัลพิเศษให้แก่ผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ยุคใหม่

“การแข่งขันครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาทักษะอนาคตให้กับเยาวชนไทยเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 สอดคล้องตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพผู้เรียนอย่างรอบด้านทุกมิติ โดยเฉพาะการส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทัดเทียมในระดับสากล โดยสิ่งสำคัญของโครงการ Future Youth Thailand นี้ เป็นการส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนในประเทศไทย พร้อมริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านการเรียนรู้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมและการศึกษาที่ก้าวหน้า อีกทั้งยังเป็นเวทีให้นักเรียนเข้าถึงได้เพื่อแสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ประสบการณ์อื่นๆ อีกมากมายในอนาคต ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุน และคุณครูที่อยู่เคียงข้างนักเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจ และอยู่บนความสุขด้วยความ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว