กรณี ปัญหา กลุ่มนายทุนบุกรุกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแควระบมและป่าสียัด ท้องที่ หมู่ที่ 20 และ 14 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้บางส่วนยังสวมสิทธิชาวบ้าน ใน “ที่ดินคทช.” ทำสวนทุเรียนแปลงใหญ่ นับพันไร่ ทำให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้มีการประชุมคณะทำงานติดตามตรวจสอบการยึดถือครอบครองพื้นที่ พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด ล่าสุดในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้ตรวจยึดที่ดินคืนไปแล้ว 344 ไร่ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

‘2 บริษัทเอกชน’ เมินชี้แจง ‘กมธ.สิ่งแวดล้อม’ หลังพบรุกป่าท่าตะเกียบ-ปลูกทุเรียน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผวจ.ฉะเชิงเทรา พล.ต.ต.เกรียงไกร บุญซ้อน ผบก.ภ.จ.ฉะเชิงเทรา นายพัชร์ภารุจ สุคนธร ผอ.สำนักฯทรัพยากรธรรมชาติฯฉะเชิงเทรา (ทสจ.) นายพันธ์ศักดิ์ ธรรมรัตน์นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทสจ.ฉะเชิงเทรา ,ตำรวจ ปทส., ทหารพราน, อบต.คลองตะเกรา และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสวนทุเรียน ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ พร้อมดำเนินการยึดสวนทุเรียนเพิ่มอีก 336 ไร่ จาก 700ไร่ ปลูกทับป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมฯ

ทั้งนี้นายขจรเกียรติ ผวจ.ฉะเชิงเทรา ได้เร่งกำชับให้หน่วยงานต่างๆบูรณาการร่วมกับส่วนกลางเพื่อร่วมร่วมกันตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนมือสิทธิที่ดินว่าเปลี่ยนมือกันได้อย่างไร เปลี่ยนสิทธิกันได้อย่างไร และมีเอกสารสิทธิทางราชการออกให้ได้อย่างไร โดยจะให้ทาง คทช ชี้แจงผลการดำเนินงานต่างๆรวมทั้งปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้น เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนพื้นที่ของชาวบ้านในการทำกินพื้นที่ คทช. 20,000 ไร่ ของจฉะเชิงเทรานั้น ได้มอบหมายให้ ทสจ.ฉะเชิงเทรา ไปดำเนินการต่อว่าจะมีการจัดสรรอย่างไร

พล.ต.ต.เกรียงไกร ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินคดีตอนนี้ อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมหลักฐานทั้งหมด ทั้งข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งเรื่องของการอนุญาตให้ใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ ข้อมูลจาก อบต. ในการเสียภาษี ต้องรวบรวมให้หมดว่ามีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริง ถึงจะสามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเพราะทุกอย่างมีหลักฐาน ในการดำเนินคดีซึ่งต้องใช้ความเป็นธรรม ต้องเรียกทุกฝ่ายมาสอบสวนให้หมด และยังได้ฝากถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนให้ใช้สิทธิในพื้นที่ที่ตนเองมีและอย่าไปขายสิทธิให้ใคร เก็บไว้ให้ลูกหลานใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า

ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ นนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทสจ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า แปลงปลูกทุเรียนของบริษัทเอกชน ได้มีการตรวจยึดไปแล้ว 345 ไร่ วันนี้จะตรวจสอบเพิ่มเติม คาดว่าจะตรวจยึดพื้นที่เพิ่มเติม 336 ไร่รวมทั้งหมดคาดว่าจะมีการตรวจยึดประมาณ 700 ไร่ และจะแจ้งความเพิ่มเติม 336 ไร่ซึ่งมีหลักฐานตามที่บริษัทได้ไปเสียภาษี ภ.บ.ท. 5 ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา แต่เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ดำเนินการปลูกทุเรียนหรือปลูกพืชอย่างอื่น แต่ต้องแจ้งความดำเนินคดี เพราะว่ามีเจตนาที่จะครอบครองพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติฯ