เมื่อเร็วๆ นี้ “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสลงพื้นที่ 1 ใน “แดนความมั่นคงสูงสุด” หรือ แดนซูเปอร์แมกซ์ (Supermax) ของเรือนจำกลางระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการคุมขังตาม “พฤติการณ์” ไม่ได้ขังตามอัตราโทษ

เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นแดนคุมขังนักโทษที่มีพฤติกรรมดื้อด้าน กระด้างกระเดื่อง กระทำผิดวินัย มีความเสี่ยงหรือก่อเหตุในเรือนจำ แก้ไขยาก ผิดซ้ำบ่อยๆ จำเป็นต้องใช้กระบวนการดูแลเฉพาะในการปรับเปลี่ยน โดยขอหยิบยกกระบวนการมาบอกเล่าให้ได้รู้จักพื้นที่ต้องห้ามนี้กันมากขึ้น

ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีแดนซูเปอร์แมกซ์ อยู่ในเรือนจำ 5 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางระยอง จ.ระยอง, เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี, เรือนจำกลางพิษณุโลก จ.พิษณุโลก, เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา และเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

เฉพาะเรือนจำกลางระยองมีทั้งหมด 10 แดน รองรับโทษอัตราสูงไปจนถึงโทษจำคุกตลอดชีวิต จากข้อมูล ณ วันที่ 10 มี.ค. 68 มีนักโทษรวม 5,614 ราย เป็น ชาย 4,952 ราย หญิง 662 ราย ซูเปอร์แมกซ์คือ แดน 6 มีนักโทษถูกคุมขังอยู่ 61 ราย

ทั้งหมดเป็นนักโทษชาย ส่วนใหญ่เป็นจิตเวชจากยาเสพติด อีกส่วนเป็นกลุ่มพฤติกรรมก้าวร้าว กระทำผิดวินัย และทำผิดซ้ำซาก

ในพื้นที่แดน 6 เมื่อผ่านประตูเข้าไปจะพบอาคารมั่นคง 1 และ 2 ทางเข้าอาคารเป็นพื้นที่แคบเพียงเดินสวนกัน ความสูงอาคารมี 4 ชั้น การควบคุมดูแลจะมีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องการใช้ชีวิตผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ จากการสังเกตบางห้องคุมขังเพียง 1 ราย บางห้อง 3 ราย มีนัยสำคัญว่าห้องขังแดน 6 จะไม่คุมขังเพียง 2 ราย เพราะอาจทะเลาะมีปากเสียง แต่ถ้า 3 ราย อาจมีผู้ห้ามปรามและช่วยเหลือได้ทัน

ภายในอาคารมีลานส่วนกลาง และส่วนสวัสดิการ สวัสดิภาพเพื่อปรับพฤตินิสัย ขณะที่ชั้นบนสุดเป็นห้องขังทั้งห้องขังเดี่ยว 60 ห้อง และห้องขังรวม 16 ห้อง (ขังได้ห้องละ 12 ราย)

ขนาดห้องขังแยกเดี่ยว มีความกว้าง 1.7 เมตร ยาว 2.8 เมตร ส่วนห้องขังรวม กว้าง 4.5 เมตร ยาว 4.8 เมตร ห้องขังทั้ง 2 แบบมีที่สำหรับนอนยกสูงขึ้นจากพื้น มีส้วมซึม กล้องวงจรปิด พัดลมระบายอากาศ และแต่ละรายจะได้ผ้ารายละ 3 ผืน เป็นผ้าใช้หนุนศีรษะ, ผ้าใช้ห่มนอน และผ้าใช้รองนอน

ในรายที่มีอาการทางจิตเวช จะมีเจ้าหน้าที่จัดการยาให้รับประทานต่อเนื่องป้องกันการคลุ้มคลั่งทะเลาะวิวาท ก่อเหตุจลาจล

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าคู่กรณี หรือโจทก์ ระหว่างวันเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้จัดอาหารไปให้ที่ห้องขัง จากนั้นเวลา 10.00 น. จะเป็นรอบอาบน้ำ โดยห้องขังรวมจะลงมาอาบน้ำก่อนทีละห้อง ตามด้วยรอบการอาบน้ำของห้องขังเดี่ยว ที่จะแบ่งมาอาบน้ำครั้ง 4-5 ห้อง แต่ละรายมีเวลาอาบน้ำไม่เกิน 5 นาที

ต่อมาเป็นช่วงฝึกอีก 1-2 ชม. โดยมีโปรแกรมฝึกวินัย ท่องกฎ สวดมนต์ ออกกำลัง เพื่อปรับบุคลิกท่าทาง พฤติกรรมก่อนกลับไปอยู่ร่วมกันในแดนทั่วไป ทั้งนี้ จะใช้เวลาปรับเปลี่ยนเป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน

นายกฤษณะ ทิพยจันทร์ ผบ.เรือนจำกลางระยอง เปิดเผยว่า เรือนจำกลางระยองเป็นเรือนจำความมั่นคงสูงสุด ในรายที่กระทำผิดวินัย หรือมีพฤติกรรมเกเรดื้อด้าน จะพิจารณาแยกขังไปแดน 6 ซึ่งเป็นการแยกขังตาม “พฤติการณ์” ของนักโทษ แต่ไม่ใช่การขังตามโทษ แดน 6 จึงเป็นแดนที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การแยกขังเดี่ยวของแต่ละเรือนจำแตกต่างกันทางกายภาพ ส่วนการปฏิบัติจะปฏิบัติภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ภายใต้ข้อกำหนดของกรมราชทัณฑ์ (SOPs)

ผบ.เรือนจำกลางระยอง ระบุ การแยกขังเดี่ยวไม่จำเป็นต้องเป็นการร้องขอจากผู้ต้องขัง เพราะเรือนจำมีระเบียบรองรับ ถ้าใครทำผิดจะมีระเบียบปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังที่ผิดวินัย ปัจจุบันเรือนจำกลางระยองมีนักโทษกว่า 5,400 ราย และมีแดนความมั่นคงสูงสุดควบคุมผู้ต้องขัง แยกขังได้ 444 ราย แต่ขณะนี้มีควบคุมอยู่ 61 ราย

“ระยะเวลาในควบคุม คือ 2 ปี และมีการประเมินเป็นระยะทุก 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ถ้า 1 หรือ 3 เดือนประเมินแล้วผู้ต้องขังปฏิบัติตัวดีจะย้ายไปห้องขังรวม จากนั้น 6 เดือน จะได้ไปอยู่ที่แดนรอง คือ แดน 8 และมีการติดตามประเมินวินัยอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง รวมเป็นระยะเวลา 2 ปี”

อย่างไรก็ตาม การขังเดี่ยวยึดตามหลักสากล เหมือนในต่างประเทศที่จะขังไว้คนเดียว และมีการสังเกตพฤติกรรมเข้มข้น เพื่อให้ปรับปรุงตัวเอง ที่สำคัญไม่ไปทำร้ายคนอื่น และการขังเดี่ยว (บางกรณีที่อาจต้องอยู่เกิน 1 ราย) จะไม่ให้อยู่เป็นเลขคู่ แต่ให้ขัง 1 คน หรือ 3 คน เพื่อป้องกันการทำร้ายกันเกิดขึ้น.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน