“วัยทอง” เป็นภาวะมักเกิดในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ทำให้มีอาการอารมณ์แปรปรวน ระบบเผาผลาญในร่างการทำงานน้อยลง ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้เข้าสู่ภาวะวัยทอง

มีคำแนะนำดีๆ จาก“โรงพยาบาลรามคำแหง” เกี่ยวกับความสำคัญของอาหารในช่วงวัยทองว่า ผู้ที่เข้าสู่วัยทองควรทานอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ ย่อยง่าย มีกากใยสูง เพื่อช่วยลดอาการวัยทองในระยะเริ่มต้น และอาการวัยทองในระยะยาว นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวดี ไม่แห้งแตก รวมถึงป้องกันโรคที่อาจเกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปได้ด้วย

อาหารสุขภาพที่ควรทาน

1.ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่วต่างๆ

2.ปลาแซลมอน

3.ไข่

4.กล้วย

5.เต้าหู้ และน้ำเต้าหู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากถั่วเหลืองทุกชนิด ซึ่งควรทานเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะมีประโยชน์และช่วยป้องกันโรคได้ค่อนข้างดี

6.โยเกิร์ตไขมันต่ำ นมที่มีไขมันต่ำ

7.ผักใบเขียว ผลไม้ ซึ่งมีธาตุโบรอนที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการกักฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี ราสป์เบอร์รี สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล องุ่น ส้ม ส่วนผัก เช่น บรอกโคลี ผักแขนง ดอกกะหล่ำ หัวไชเท้า

ข้อดีของการทานผักและผลไม้เหล่านี้ คือการเพิ่มวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์กับร่างกาย นอกจากนี้กากใยยังช่วยการขับถ่ายพร้อมลดอาการท้องผูกเรื้อรัง ทำให้สบายตัว อีกทั้ง ในผักและผลไม้ยังอุดมด้วยสารไฟโตเอสโตรเจนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงช่วยบรรเทาอาการวัยทองลงได้

อาหารอันตรายที่ควรงด

ผู้ที่มีภาวะวัยทองควรงดรับประทานอาหารที่อาจไปกระตุ้นให้มีอาการมากขึ้น ได้แก่

1.เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เพราะคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมลดลง เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน

2.เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจมีผลกระทบกับร่างกายได้

3.ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัดหรือเผ็ดร้อน

4.ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน

5.อาหารแปรรูป เพราะทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ลดลง อาจเสี่ยงต่อการเกิดไขมันสะสมที่หน้าท้อง ทำให้อ้วนง่าย อีกทั้งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจกับโรคเบาหวาน

ควรแบ่งทานอาหารอย่างไร

ควรทานอาหารอาหารโดยแบ่งเป็นมื้อเล็กหรือมื้อย่อย ซึ่งการทานครั้งละน้อยๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเผาพลาญให้ทำงานดีขึ้น ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดคงที่ ร่างกายก็จะไม่รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย

ที่สำคัญคือไม่ควรอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมื้อเช้าที่เป็นมื้อสำคัญ เพราะจะช่วยให้ร่างกายเกิดความกระฉับกระเฉงได้ตลอดวัน

ส่วนมื้อเย็นควรลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต และอาจเพิ่มเป็นโปรตีนไขมันต่ำและย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา อกไก่ ฯลฯ การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดปัญหา และลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี.