เมื่อวันที่ 13 มี.ค. รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) กล่าวถึงเรื่องการเข้าลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ของสำนักงานประกันสังคม โดยการเข้าซื้ออาคาร SKYY9 ราคากว่า 7 พันล้านบาท ว่า เรื่องนี้เป็นการอนุมัติซื้อในปี 2565 ในบอร์ดชุดที่แล้ว ส่วนบอร์ดชุดปัจจุบันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2567 แต่ถ้าถามว่า บอร์ดชุดปัจจุบันทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างนั้น ในส่วนของตนเอง ก็ยังไม่ได้รับรายงานการประชุมย้อนหลัง ซึ่งเราก็เคยขอไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ ดังนั้นอาจจะต้องสอบถามไปยังบอร์ดชุดก่อนว่า ตอนนั้นมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร ส่วนการลงทุนของชุดปัจจุบัน เป็นกรอบการบริหารความเสี่ยง ซึ่งยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่การหารือเพื่ออนุมัติ นับตั้งแต่บอร์ดใหม่เข้ามาเมื่อปี 2567 ยังไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเพิ่ม ยกเว้นในส่วนที่ได้ทำสัญญาไว้แล้ว ก็มีการจ่ายเงินตามสัญญา
เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ช่วงบ่ายสองบ่ายสาม ทางกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ส่งเอกสารชี้แจงการซื้ออาคารดังกล่าว ระบุว่า อาคารดังกล่าวมีผู้ประเมินราคาอิสระ 2 ราย ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีราคาประเมินตามวิธีพิจารณาจากรายได้ (Income Approach) ประมาณ 7,300 ล้านบาท และมีการประเมินโดยวิธีพิจารณาต้นทุน (Cost Approach) ประมาณ 8,000 ล้านบาท เข้าลงทุนจริงที่ราคา 6,900 ล้านบาท แต่ต่อมาก็ยกเลิกเอกสารการประชาสัมพันธ์นี้ มีความผิดพลาดอะไรหรือไม่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ในฐานะบอร์ด เราจะเห็นภาพใหญ่ แต่การสื่อสาร การบริหารจัดการอะไรต่างๆ เป็นระบบราชการของ สปส. ดังนั้นปัญหาที่ติดตาม เรื่องการประเมินราคาต่างๆ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องเจ้าของสินทรัพย์เป็นใคร ใครได้ประโยชน์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งพวกตนก็ได้รับข้อมูลโดยละเอียดพร้อมกับประชาชน ด้านหนึ่งเราก็ไม่ทราบ เพราะมีการรายงานมา อย่างในระดับอนุกรรมการต่างๆ นั้น เราก็จะไม่เห็นตัวชื่อสินทรัพย์ เห็นเพียงแค่กรอบว่าสินทรัพย์ประเภทนี้ได้กำไรเท่าไหร่ แต่จะไม่ทราบว่า ตึก A โครงสร้างพื้นฐาน B ขาดทุนหรือกำไรเท่าไหร่ เราจะไม่ทราบ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราพยายามขอจากสำนักงานมาโดยตลอด แต่ตัวนี้ก็ชัดเจนตามเนื้อข่าวที่ออกมาว่า ถ้าเป็นจริงตามที่มีการรายงานของสื่อหลายสำนัก และผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินราคา ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในเรื่องของธรรมาภิบาล ว่า สินทรัพย์ตัวนี้เป็นของใคร ใครเป็นคนมาเสนอขาย และขณะเดียวกัน ตัวกลไกการคืนทุนของมัน สามารถคืนทุนได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ตามที่สัญญาไว้ เราสูญเสียผลประโยชน์มากกว่า 4 พันล้านบาท ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
เมื่อถามว่า ทาง สปส. ให้เหตุผลอย่างไรถึงไม่ได้ให้เอกสารการประชุมย้อนหลังตามที่ขอไป รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า คิดว่า เหตุผลน่าจะคล้ายกับตอนที่มีบอร์ดนายจ้างออกมาพูดตอนที่เราขอแล้วเขาไม่ให้ โดยบอกว่ามันเป็นเรื่องในอดีต เป็นเรื่องที่กระทบคนหลายคน แต่จริงๆ จุดยืนของเราคือไม่ว่าจะเป็นบอร์ดชุดไหน แม้กระทั่งอนุกรรมการ เราอยากให้เปิดรายงานการประชุมทั้งหมด ซึ่งเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ก็ต้องเปิดเผยได้ เรื่องไหนอยู่ในระหว่างดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่เปิดเผยก็ไม่เป็นอะไร เรื่องที่ผ่านมา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ปฏิทิน ควรเปิดเผย
เมื่อถามต่อว่า ในการประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อปลายเดือน ก.พ. บอกว่า ภายใน 7 วัน จะมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ จนถึงตอนนี้มีการเปิดเผยอะไรออกมาหรือไม่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ยังไม่มีการเปิดเผย ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าจะเปิดเผย ก็เปิดเผยของบอร์ดชุดปัจจุบันก็ได้ แต่ตอนนี้เรื่องมันแดงย้อนกลับไป แล้วบอร์ดชุดก่อนก็พูดตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ว่ารับทราบ ไม่รับทราบ นี่เป็นเรื่องสำคัญ คิดว่าถ้าจะให้เกิดความเป็นธรรมกับบอร์ดชุดก่อน หรืออนุกรรมการสินทรัพย์ ก็ให้มีการเปิดข้อมูลมา แต่ไม่แน่ใจว่า ส่วนที่ถูกเปิดเผยออกมา จะเป็นฉบับจริงๆ หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวลือว่ามีการสั่งให้เงียบปากกัน ไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่มีใครในฝั่งสำนักงานประกันสังคมไม่ออกมาชี้แจงเรื่องนี้หรือไม่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เป็นการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติที่สำนักงานชอบทำ คือ เงียบสงบ แต่ไม่รู้ว่ามันสามารถแก้ไขได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าใช้วิธีนี้แล้วไม่ค่อยได้ผล.