เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมคณะ กมธ.ความมั่นคงฯ จะมีการหารือในเรื่องของมิติความมั่นคงเงินช่วยเหลือของสาธารณสุขบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันชายแดนเป็นวิกฤติที่หนักมาก หลังจากที่นโยบายของสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไป สิ่งที่ตามมาคือมีคนจำนวนมากที่มีการลี้ภัยจากหลาย 10 ปี ได้มาอยู่ในค่ายตามแนวชายแดนไทยที่มีอยู่ทั้งหมด เงินเยียวยาเหล่านี้ ก็มาจากสหรัฐอเมริกาและสัดส่วนก็น่าจะเกินกว่าครึ่ง ดังนั้นเงินในส่วนนี้กำลังจะหมด
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเรื่องสาธารณสุขต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามแนวชายแดนมันจะกลายเป็นวิกฤติแน่นอน เมื่อเกิดวิกฤติหมายความว่าคนลี้ลัยเหล่านี้อาจจะไม่ได้อยู่ในค่ายอีกแล้ว จะกลับไปที่ประเทศเดิมก็กลับไปไม่ได้ เพราะมีบางส่วนที่จำไม่ได้ว่ามาจากไหน เพราะฉะนั้นเราต้องหาแนวทางที่จะรับมือ ว่าจะมีบริการจัดการอย่างไร เพราะหากไม่มีมาตรการในการจัดการ มันก็จะมีปัญหาอย่างอื่นที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการหลบหนีจากค่าย ซึ่งหากการหลบหนีก็ไม่มีฐานข้อมูลในระบบว่าความเป็นมาของผู้หลบหนีนั้นเป็นอย่างไร ปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนพยายามจะจัดการคือการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐถึงความพร้อมของมาตรการที่จะรองรับในการที่จะช่วยเหลือ หรือจะมีการดึงประเทศอื่นมาได้หรือไม่ ในเรื่องของการทดแทนเรื่องงบประมาณต่างๆ ที่ทางการสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการจ่ายเงินแล้ว ในส่วนนี้คงต้องมีการมาพูดคุยกัน รวมถึงมีหลายกำหนดการที่ต้องดำเนินการ แต่สำคัญคือเราไม่อยากให้เป็นภาระต่อประเทศไทย ซึ่งก็ต้องหาวิธีการกันต่อไป
เมื่อถามอีกว่าในฐานะที่เป็นประธานคณะ กมธ. ในการเชิญหน่วยงานเข้ามาชี้แจงในวันนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นคงต้องต้องคุยกันก่อน แน่นอนว่าต้องมีข้อเสนอแนะ ปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันก็มีเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแรงงานที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ตนคิดว่าต้องดูเหมือนกันว่ามีจุดไหนที่อาจจะอยู่คนละครึ่งทาง เพราะคนเหล่านี้แทนที่จะต้องรอเงินจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) หรือต่างประเทศ จะมีวิธีการไหนบ้างที่ทำให้ทำงานได้ แต่ต้องไม่กระทบงานคนไทย เพื่อไม่ให้สุดท้ายเป็นปัญหาที่ทำให้คนเหล่านี้ดิ้นรนและหนีไปอยู่ที่อื่น ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจต่างๆ ตนมองว่ามีหลายวิธีที่พอเป็นไปได้ เพราะคนเหล่านี้อยู่ประเทศไทยมานานหลายปี ซึ่งวันนี้มีการสู้รบกันตามแนวชายแดน ต้องยอมรับว่าพอมีการสู้รบกัน คนก็จะหลบหนีมายังประเทศไทย ทางประเทศไทยก็ต้องหามาตรการในการรองรับ เพราะบางคนก็มีสุขภาพไม่แข็งแรง ทุกวันนี้สาธารณสุขแนวชายแดนแบกรับภาระมาก
นายรังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซึ่งใน กมธ. วันนี้ จะรับฟังเป็นหลักตนคิดว่าเรายังพอมีเวลาแต่ค่อนข้างกระชั้นชิด เนื่องจาก เอ็นจีโอ ไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงเป็นอีกปัญหาที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญอยู่