แม้ว่าในปี 2567 ประเทศ ไทยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยสามารถปรับตัวขยับขึ้นมา 1 อันดับในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเลื่อนขึ้นถึง 9 อันดับในการจัดอันดับระดับโลกที่ครอบ คลุมประเทศ ภูมิภาค และดินแดนต่าง ๆ แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM2.5 เทียบกับค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ระดับสีส้ม ซึ่งบ่งชี้ว่ายังมีผลกระทบต่อสุขภาพที่น่ากังวล โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง โดยมีการตรวจพบค่า PM2.5 ที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ถึง 3.96 เท่า
รายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปีฉบับที่ 7 ของ IQAir ได้เปิดเผยสถานการณ์ที่น่าวิตกเกี่ยวกับประเทศ อาณาเขต และภูมิภาคที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในปี 2567 สำหรับการศึกษาครั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านคุณภาพอากาศของ IQAir ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศกว่า 40,000 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ 8,954 แห่ง ในทั้งหมด 138 ประเทศ ดินแดน และภูมิภาค
ข้อค้นพบหลักรายงานคุณภาพอากาศโลก 2567
มีเพียงร้อยละ 17 ของเมืองทั่วโลกเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่า หรืออากาศดีกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก
7 ประเทศที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) (ค่าเฉลี่ยรายปี 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ได้แก่ ออสเตรเลีย, บาฮามาส, บาร์เบโดส, เอสโตเนีย, เกรเนดา, ไอซ์แลนด์ และ นิวซีแลนด์
ทั้งหมด 126 ประเทศและภูมิภาค (คิดเป็นร้อยละ 91.3) จาก 138 แห่ง มีคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีสูงเกินค่าแนะนำของ WHO ที่กำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เมือง Byrnihat ในอินเดีย เป็นเขตเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในปี 2567 มีคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 128.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อินเดีย เป็นที่ตั้งของ 6 ใน 9 เมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในระดับโลก

ข้อค้นพบหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยรายปี 2567 ดีขึ้นกว่าปี 2566 แม้ว่าปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และสภาพอากาศจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงส่งผล กระทบจะยังเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ก็ตาม
อินโดนีเซียยังคงเป็นประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในภูมิภาค โดยอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก แม้ว่าระดับ PM2.5 จะลดลงเพียง
เล็กน้อย

ข้อค้นพบหลักในประเทศไทย
ประเทศไทยมีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 45 ของโลก และอันดับที่ 6 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่ 19.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 3.96 เท่า
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 42 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 18.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ในปี 2567 เดือนมีนาคม–เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายเดือนเรียงตามลำดับอยู่ที่ 71.6 และ 76.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินมาตรฐานค่าแนะนำของ WHO มากกว่า 10 เท่าซึ่งหมายถึงระดับมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
ในประเทศไทยมีการจัดลำดับเมืองที่มีมลพิษใน 6 เมือง เรียงตามลำดับ ปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี ได้แก่ เชียงใหม่ (26.4) แม่ริม (25.2) ขอนแก่น(23.7) นครราชสีมา (21.5) กรุงเทพฯ (18.9) และหาดใหญ่ (14.3)
“การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นที่พื้นที่ภาคกลางหรือภาคเหนือ ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและควบคุมคนตัวเล็ก ๆ เช่น ห้ามใช้ไฟ-เผาเด็ดขาด ห้ามขับรถ ทำงานที่บ้าน แต่ทั้งนี้กลับไม่ลงมาตรการควบคุมไปที่บริษัทเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตและฟอสซิลผู้ก่อมลพิษ ทางออกที่เป็นรูปธรรมของปัญหาฝุ่นพิษคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยนโยบายรัฐ และความกล้าหาญของรัฐในการเอาผิดต่อบริษัทอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอยู่เหนือสุขภาพของคนไทย” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทย ให้ความเห็น.