เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุด ว่า “วิธีหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติก ร่างกายสามารถกำจัดไมโครพลาสติกได้จริงหรือไม่”
โดย หมอหมู ระบุข้อความว่า “ขอนำแนวทางในการหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกมาให้ทุกท่านรับทราบ และจะเล่าถึงความเป็นไปได้ที่ร่างกายของเรา จะสามารถกำจัดไมโครพลาสติกออกด้วยตนเอง การศึกษาในสัตว์แสดงให้เห็นว่า “ไมโครพลาสติก” อาจส่งผลต่อสุขภาพสมอง การทดลองกับปลาแสดงให้เห็นว่า การสัมผัสกับนาโนพลาสติก ทำให้ความสามารถในการว่ายน้ำและพฤติกรรมการล่าเหยื่อลดลงในหนู”

“การสัมผัสกับ “ไมโครพลาสติก” เป็นเวลานาน ทำให้เกิดความจำเสื่อม การอักเสบ และระดับโปรตีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองลดลง แม้ว่าการศึกษาเหล่านี้ จะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบว่าผลกระทบที่คล้ายกันนี้ เกิดขึ้นในมนุษย์หรือไม่”
อีกทั้ง “การเพิ่มขึ้นของไมโครพลาสติกในอาหารและน้ำ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ดื่มน้ำขวดจะกินไมโครพลาสติกเข้าไป มากกว่าผู้ที่ดื่มน้ำประปาอย่างเห็นได้ชัด การอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติกได้แสดงให้เห็นว่า จะปล่อยอนุภาคพลาสติกจำนวนหลายพันล้านชิ้นลงในอาหาร ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการสัมผัสกับอาหาร แหล่งอื่นๆ ของไมโครพลาสติกที่กินเข้าไปได้แก่ อาหารทะเล อาหารแปรรูป และแม้แต่ถุงชา ซึ่งสามารถปล่อยอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก จำนวนหลายล้านชิ้นออกมาเมื่อแช่ในน้ำร้อน”
“น้ำขวดเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ผู้คนได้รับไมโครพลาสติก ในปริมาณเกือบเท่ากับปริมาณไมโครพลาสติกที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารหรือสูดดมรวมกันในแต่ละปี การหันมาใช้น้ำประปา อาจช่วยลดการสัมผัสไมโครพลาสติกได้เกือบ 90% จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง ในการลดปริมาณไมโครพลาสติกที่ร่างกายได้รับ การอุ่นอาหารในภาชนะพลาสติก โดยเฉพาะในไมโครเวฟ อาจทำให้มีไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกจำนวนมาก การหลีกเลี่ยงการเก็บอาหารด้วยพลาสติกและใช้วัสดุอื่น ที่ทำด้วยแก้วหรือสเตนเลสเป็นขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความหมายในการจำกัดการสัมผัส”
“การกำจัดไมโครพลาสติกออกจากร่างกาย งานวิจัยบางส่วนระบุว่า สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เช่น บิสฟีนอลเอ สามารถขับออกมาทางเหงื่อ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่การออกกำลังกาย หรือการใช้ซาวน่าจะช่วยกำจัดไมโครพลาสติกได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานโดยตรง ที่ยืนยันว่าร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดไมโครพลาสติกที่สะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม “ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง” หมอหมู กล่าว
ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์