นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมภาพเสมือนจริง (Perspective) แบบการก่อสร้างสถานีอยุธยา ซึ่งอยู่ในงานสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) ของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว เพื่อเสนอให้คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ใช้ประกอบการพิจารณา หลังจากลงพื้นที่เมื่อวันที่ 19-21 ม.ค.68 และได้ขอให้ รฟท. ส่งข้อมูลเหล่านี้เข้ามาเพิ่มเติม

นายวีริศ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ครั้งนั้น แนวโน้มดี ไม่ได้มีประเด็นใดมากที่จะส่งผลกระทบต่อการเดินหน้างานสัญญาที่ 4-5 อย่างไรก็ตามจากการสอบถามไปยัง สผ. ได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า คาดว่าคณะผู้เชี่ยวชาญฯ จะส่งหนังสือตอบกลับมายัง สผ. ช่วงประมาณกลางเดือน มี.ค.68 หากเป็นไปตามกรอบเวลานี้ เมื่อได้รับหนังสือตอบกลับมาแล้ว หากพบว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร และสามารถดำเนินการได้ รฟท. จะนำเรื่องดังกล่าวรายงาน และหารือร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เพื่อเดินหน้างานสัญญาที่ 4-5 ทันที เบื้องต้นคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้รับจ้างได้ภายในเดือน เม.ย.68

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ข้อมูลเพิ่มเติมที่ สผ. ส่งไปยังคณะผู้เชี่ยวชาญฯ เป็นข้อมูลทั้งของ รฟท. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของ รฟท. เป็นการส่งภาพ Perspective แบบการก่อสร้างสถานีอยุธยา ที่มีการปรับลดขนาดความสูงของตัวสถานีลงแล้ว โดยก่อนหน้านี้ รฟท. ได้ปรับลดลงมาแล้วจาก 37.45 เมตร เหลือ 35.45 เมตร และครั้งนี้ได้ปรับเพิ่มอีกให้เหลือ 28 เมตร รวมทั้งขยับสถานีเล็กน้อยไม่ให้โครงสร้างคร่อมสถานีรถไฟเดิม ซึ่งเป็นโบราณสถานตามคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ส่วนความสูงจากสันรางได้ปรับลดก่อนหน้านี้แล้วจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตร เพื่อลดข้อกังวลเรื่องการส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

สำหรับกรอบเวลาการดำเนินงานสัญญาที่ 4-5 ในเบื้องต้น หาก รฟท. สามารถลงนามสัญญาจ้างกับบริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด ผู้รับจ้าง ได้ภายในเดือน เม.ย.68 ซึ่งผู้รับจ้างยังคงยืนราคาเดิมที่ 10,325.90 ล้านบาท คาดว่าหลังจากนั้นอีกไม่เกิน 2 เดือน จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้ผู้รับจ้างเริ่มงาน (NTP) เพื่อเริ่มงานการก่อสร้างได้ไม่เกินกลางปี 68 ส่วนจะออก NTP ทั้งการสร้างทางวิ่ง และสถานีอยุธยาหรือไม่นั้น รฟท. ขอพิจารณาความคิดเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ที่จะส่งกลับมาก่อน

ส่วนความคืบหน้าสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอการลงนามสัญญา ต้องรอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกันก่อน ซึ่งเบื้องต้นจะมีการเสนอร่างแก้ไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ในวันที่ 27 มี.ค.68 หากเห็นชอบจะส่งร่างฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ประมาณเดือน พ.ค.68 อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ทั้ง 14 สัญญา มีความคืบหน้าประมาณ 41.70% ล่าช้าจากแผน 28.06% ยังคงเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการในปี 2571.