แน่วแน่ในแนวทาง ยึดมั่นใจจุดยืน หลัง “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” แกนนำพรรคประชาชน (ปชน.) ออกมาให้ความเห็นกรณีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ระบุว่าหากพรรคฝ่ายค้านไม่ถอนชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 151 จะไม่บรรจุระเบียบวาระ ว่า ยืนยันตามเดิมว่า เป็นไปตามหลักการข้อกฎหมายอย่างชัดเจนที่เราจะบรรจุชื่อของบุคคลภายนอกในญัตติได้

ซึ่งก็ต้องมีการพูดคุยกับประธานสภา ว่าตกลงยืนยันข้อกฎหมายถูก หรือเป็นอำนาจที่ประธานสภา สามารถทำได้จริงหรือไม่ และคงต้องหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามจะไม่ยอมให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้แน่นอน และต้องคุยให้จบภายในสัปดาห์นี้ เมื่อถามว่า หากประธานสภาไม่ยอมบรรจุวาระ จะยอมแก้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จริงๆ มีข่าวให้คำแนะนำเราว่าจะใส่ชื่อแทนชื่อของนายทักษิณ ไว้ว่าอย่างไร มีคนแนะนำมาเยอะ เช่น “ชายคนนั้น”  “พี่คนนั้น”  “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ซึ่งเรายังยืนยันว่า สิ่งที่เราทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่ต้องรอดูว่าจะคลี่คลายแบบไหน

แต่ที่น่าสนใจคือ มีความเห็นในเชิงให้คำแนะนำของพรรคแกนนำฝ่ายรัฐบาล โดย “นายสุทิน คลังแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) หลังพรรค ปชน. ยังดื้อดึงไม่นำชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า อยากขอร้องฝ่ายค้าน ให้กระบวนการตรวจสอบเดินหน้าได้ควรจะปรับแก้ สมัยตนทำงานกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ในสมัยนั้นให้แก้ให้ปรับ เราก็ปรับ ถ้าหากว่าพรรค ปชน. ไม่แก้ คนก็เริ่มสงสัยอีกแบบ ตนก็สงสัยว่ามีข้อมูลเฉพาะนายทักษิณ อย่างเดียวหรือไม่ ข้อมูลอย่างอื่นไม่มี ถ้าไม่มีนายทักษิณก็จะอภิปรายไม่ได้ อย่างนี้ทุกคนจะมองว่าพรรค ปชน.หาเรื่องล่มสภา ทำให้วาระไม่ถูกบรรจุ และโยนความผิดให้ที่ประธานสภา เพื่อให้ความเข้าใจอันดี พรรค ปชน.ต้องแก้ ไม่เสียหายอะไร เรายอมแก้ให้กับข้อบังคับ ยอมถอยกับประธานสภา ไม่เสียหาย และเราจะได้อภิปรายไปตามหน้าที่ การจะพูดก็จะเป็นโอกาสที่ดีของพรรค ปชน. ถ้าไม่ได้พูดก็จะไม่มีโอกาส

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านมีความกังวลว่าถ้าไม่ใส่ชื่อองครักษ์จะเริ่มทำงานจนอภิปรายไม่ได้ นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องแบบนี้เป็นธรรมชาติในสภาที่ทำกัน การอ้างถึงบุคคลภายนอก ถ้ามีพองามเป็นสีสันก็เดินต่อไปได้ “ไม่อยากจะแนะนำในฐานะที่เคยอภิปรายมาเยอะ การจะพูดถึงคนภายนอกไม่ต้องเอ่ยชื่อเขาก็รู้หมด ใช้เทคนิคการอภิปราย อย่าหาว่าแนะนำทำได้ ถ้าเราไปปิดขังตัวเอง ปิดโอกาสตัวเองก็จะเสียโอกาส ผมอภิปรายไม่สนใจเลยว่าต้องเป็นชื่อ พูดอะไรคนก็รู้หมดว่าหมายถึงใคร ถ้าไม่แก้จะถูกมองว่าไม่พร้อมเลยเอาเรื่องนายทักษิณ มาอ้างมีข้อมูลนายทักษิณอย่างเดียวเท่านั้น ฝากด้วยความรักกัน” นายสุทิน กล่าว

เมื่อถามว่า การที่ฝ่ายค้านยืนยันจะไม่เปลี่ยนชื่อ เหมือนเป็นการใช้กระแสสังคมกดดันหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ถ้าหากใช้กระแสสังคมบีบ ต้องชอบด้วยเหตุผล เพราะมีข้อบังคับที่ชัดเจน อีกทั้งมีธรรมเนียมปฏิบัติ วันนี้ก็ไม่ได้รู้สึกถูกบีบอะไร ไม่คิดว่ากระแสจะตีกลับที่ไม่แก้เพราะไม่มีข้อมูล ยังไม่พร้อมและอยากจะลงอภิปรายโดยใช้วิธีนี้หรือเปล่า เป็นผลเสียมากกว่า

คงต้องรอดูบทสรุปว่า พรรค ปชน.จะหาทางออกอย่างไร หากไม่ยอมตัดชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยิ่ง “ไหม ศิริกัญญา” ยืนยัน ไม่ยอมให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้แน่นอน เพราะถือเป็นการโชว์บทบาทพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งจะเป็นการสร้างคะแนน และความยอมรับให้เกิดขึ้น

ส่วนการยื่นคำร้องของรัฐบาลไปยังศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เพื่อสอบถามคุณสมบัติและความหมายบุคคล ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ “ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี” เพื่อเป็นแนวทางในการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร หลังอดีตนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะไปแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ เพราะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไป

โดย ศาล รธน. พิจารณาเรื่องที่ 4/2568 กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ ครม.ตาม รธน. มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดย ครม. (ผู้ร้อง) มอบหมายให้ “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยื่นหนังสือขอให้ศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัยตาม รธน.มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของนายกฯ และครม.ในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ รธน. และคำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ 21/2567 ซึ่งการพิจารณาว่าบุคคลต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ถามปมจริยธรรม

และ “ไม่มีพฤติกรรมอันการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” และ “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” ตาม รธน. มาตรา 160 (4) (5) และ (7) รวมทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 9 (5) กำหนดว่า ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต้อง “ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี” ว่ามีขอบเขตหรือแนวทางการพิจารณาอย่างไร

ซึ่งคำร้องดังกล่าวเป็นเพียงการขอให้อธิบายหรือแปลความหมายบทบัญญัติของ รธน.เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของ รธน. มาตรา 160 (4) (5) และ (3) และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 9 (5) ว่ามีความหมายขอบเขตเพียงใด อันมีลักษณะเป็นการหารือเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว

อีกทั้งกรณีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นตามคำร้องซึ่งไม่ใช่รัฐมนตรีก็เป็นอำนาจให้ความเห็นชอบของ ครม. ตาม พ.ร.บ.เฉพาะข้าราชการการเมือง มิใช่การใช้อำนาจตาม รธน. ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตาม รธน. มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รธน. พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 อาศัยเหตุผลตามที่กล่าวข้างต้น ศาล รธน.มีมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) ตุลาการศาล รธน.เสียงข้างน้อย คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า บุคคลต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ส่วนเสียงข้างน้อยเห็นว่า เป็นกรณีตาม รธน.มาตรา 200 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 158 วรรคหนึ่ง มาตรา 160 (4) และ (5) และมาตรา 164 วรรรคหนึ่ง (1) และเห็นว่าเป็นประเด็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนประเด็นอื่น ศาล รธน.มีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

นั่นหมายความว่า ศาล รธน.ไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ไม่ตอบการหารือ และยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว

ส่วนการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. นำทีม สว.ทั้งหมด 81 คน มายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สืบเนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับคดีฮั้ว สว.ข้อหาฟอกเงินเป็นคดีพิเศษโดยเห็นว่าไม่มีอำนาจ ซึ่งในหนังสือยื่นคำร้องมี สว. ร่วมลงชื่อจำนวน 105 คน โดยมีนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทนรับหนังสือ ด้าน พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ รมว.ยุติธรรมและอธิบดีดีเอสไอ กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและมีเจตนาพิเศษ จงใจกล่าวหากลั่นแกล้ง สว.เพื่อให้ได้รับโทษทางอาญา

พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวอีกว่า หากดีเอสไอ สืบสวนไปแล้วรู้ว่าไม่มีอำนาจในการดำเนินการ ก็ควรส่งพยานหลักฐานให้ กกต. ไม่ทราบว่าดีเอสไอจะเก็บไว้ทำไม เชื่อว่าฝ่ายการเมือง ที่เข้ามากำกับดูแลดีเอสไอถูกครอบงำหรือไม่ ก็ขอให้สื่อมวลชนพิจารณาเอง พร้อมกันนี้ก็ได้มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบคนเลี้ยงสุนัขและแมว กับการทำหน้าที่ของอธิบดีดีเอสไอ รับพิจารณาทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ และทำตามคำสั่ง อาจพบจุดจบที่ไม่ดี สักวันหนึ่งคนเลี้ยงแมวไม่อยู่แมวจะอดตาย จะติดคุก เมื่อถามถึงกรณี หากดีเอสไอเรียกไปให้ปากคำจะไม่ไปใช่หรือไม่ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ตราบใดที่ผู้สอบสวนยังไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เราก็ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ จะมายัดเยียดว่าพวกตนเองไม่บริสุทธิ์ไม่ได้ เราทำงานมา 7-8 เดือน ก่อนหน้านี้ กกต.ก็รับรองว่า เราสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส

ส่วน “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีฟอกเงิน ที่มาจากคดีฮั้วเลือก สว. ว่า อธิบดีดีเอสไอจะทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด (อสส.) ในการประสานงาน และสำนักงานอสส. ก็จะตั้งเป็นคณะทำงาน เพราะคดีนี้มีพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของพยานหลักฐาน ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่า ให้สอบสวนโดยเร็ว ซึ่งในคดีนี้เรารู้ชื่อพยานเยอะแล้ว และในการชี้แจงก็จะมีข้อมูลอยู่แล้ว หากจะให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่า น่าจะใช้เวลา 3 เดือน หากมีคนผิดก็จะแจ้งข้อกล่าวหา และหากจะสรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการ ก็อาจจะใช้เวลามากกว่านั้นนิดหน่อย เมื่อถามว่าการตั้งคณะพนักงานสอบสวน 41 คน ที่เป็นเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ จะถูกมองว่า เป็นเกมการเมืองในการบังคับคดีหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ไม่ใช่มีบุคลากรจากดีเอสไออย่างเดียว แต่จะมีเจ้าหน้าที่จากอัยการ และหลังจากนี้จะใช้อำนาจของนายกฯ ตั้งบุคคลภายนอก เช่น ตำรวจ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

ส่วนกรณีที่ สว.ไปร้องกับ ป.ป.ช. อ้างว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการทำคดี พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งใคร เราดูทั้งกฎหมาย และประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบกลับว่า ในคดีที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว.นั้น ไม่ได้มีการตัดอำนาจ ซึ่งวันนี้ กกต.ก็ยังไม่ได้เรียกสำนวน ทั้งที่ได้แจ้งให้ทาง กกต.ทราบแล้ว ซึ่งตามกฎหมายนั้น ต้องเรียกสำนวนภายใน 7 วัน อีกทั้งเอกสารมีค่อนข้างมาก และเป็นความลับ รวมถึงพยานจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็จะขอคุ้มครองพยาน เมื่อถามต่อว่า สว.ที่ไปร้อง ป.ป.ช. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ว่าพยานหลักฐานต่างๆ ที่ดีเอสไอมี ดูไม่น่าเชื่อถือ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ยินดีให้ตรวจสอบ เมื่อท่านถูกเรียกเข้ามาให้การ หรือแจ้งข้อกล่าวหา เราก็ให้ความร่วมมือ และพร้อมให้ความเป็นธรรม ซึ่งอย่างน้อยมีชื่ออยู่ในโพยที่ต้องถูกสอบประมาณ 140 คน ส่วนกรณีที่ สว.เสนอให้ยุบดีเอสไอ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ “เผอิญว่าเขาคงเข้าใจ และคงคิดว่าเขามีชื่ออยู่ในโพย” ซึ่งดีเอสไอต้องรับฟัง และต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมโดยชอบตามกฎหมาย

กระบวนการตรวจสอบ สว. คงต้องต่อสู้ข้อกฎหมายกันอีกหลายยก เพราะต่างไม่ยอมตกเป็นฝ่ายถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียวแน่ๆ เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจและสถานะที่ดำรงอยู่

“ทีมข่าวการเมือง”