เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา นายภัณฑิล น่วมเจิม สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค แถลงข่าวเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยนายภัณฑิล กล่าวว่า จากการประชุมคณะ กมธ.การปกครอง ในวันนี้ในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า และในวันพรุ่งนี้ (13 มี.ค. 2568) จะมีรายงานของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ตนในฐานะเป็น สส.ในพื้นที่ มีสภาพปัญหาอยู่หลายประเด็น เช่น เรื่องการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ สน.ในท้องที่ทำการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตนเคยร้องเรียนและทำหนังสือไปยังตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งคดีขาดอัตรากำลังคนในการไปปราบปรามซึ่งก็เป็นปัญหาอยู่เช่นกัน ขณะนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ว่ามีข้อจำกัดในเรื่องใดบ้าง

นายภัณฑิล กล่าวอีกว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายโดยเริ่มตั้งแต่เป็นสินค้านำเข้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้า หลายครั้งตนก็ได้ไปพบเจออยู่ที่กรมศุลกากรที่จับปลอมหรือแจ้งเท็จ และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ส่วนการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้านั้น ทางตำรวจได้มีแนวทางที่ประกาศออกมาว่าไม่ได้มีการเอาผิดทุกคนเพราะเอาผิดไม่ไหวเพราะมีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก อีกทั้งปัญหาในเขตพื้นที่อโศกและนานา กทม. ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวมาก ก็ได้รับข้อร้องเรียนเยอะไม่ใช่เฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า แต่มีสินค้าที่ผิดกฎหมายอื่นเยอะมาก และพบว่าบุคคลที่นำมาจำหน่ายเป็นบุคคลต่างด้าวที่มีการนำมาขายอยู่บนทางเดินเท้า รวมถึงจำหน่ายอยู่ในร้านกัญชาซึ่งก็เป็นปัญหาข้อสงสัยอยู่ว่า กัญชามีกฎหมายที่คุ้มครองและมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง แต่บุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่มี ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

นายภัณฑิล กล่าวอีกว่า บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันมีการเข้าถึงประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม ควรที่จะมีการควบคุมไม่ให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าประเภทพวกนี้ได้ ในแง่ของผู้คุ้มครองผู้บริโภค ตนไม่รู้ว่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีส่วนผสมใดบ้าง ซึ่งมีข้อกังวลและข้อห่วงใย เพราะไม่มีกฎหมายควบคุม รวมถึงโอกาสในการสูญเสียในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ แต่ปัจจุบันได้มีการจ่ายส่วย เช่น สน.ลุมพินี กองบังคับการตำรวจนครบาล 5 (บช.น.5) โดยมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ตนคิดว่ารัฐบาลก็มีปัญหาหรือไม่ในการออกคำสั่งให้มีสภาพบังคับเข้าใจว่ารัฐบาลก็มีความพยายามที่จะไปจัดการปัญหารายใหญ่ที่กรมศุลกากร แต่ในเชิงของรายย่อยก็ต้องมีการกวดขันด้วย เพราะบางที่ได้มีการจำหน่ายหน้าโรงเรียนซึ่งมันก็ไม่ถูกต้อง 

นายภัณฑิล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอร้องเรียนไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ว่ามีออนไลน์ขายบนแพลตฟอร์มได้อย่างไร ซึ่งกระทรวงดีอีกำกับดูแลดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า เฟซบุ๊ก กูเกิล ติ๊กต็อก สามารถทำการปิดกั้นการมองเห็นได้