นายแพทย์ชาวจีน “หวัง เฉียง” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและมาตรการป้องกันภาวะสมองเสื่อม ได้ไขความลับ “ต้นตอ” การเป็นโรค “อัลไซเมอร์” พร้อมส่งคำเตือน ว่าใครไม่อยากเป็น ให้หลีกเลี่ยง 3 พฤติกรรมร้ายทำลายสมองโดยไม่รู้ตัว!

  1. กิน “สะอาด” เกินไป

หลายคนเข้าใจว่า.. การกินอาหารรสจืด สะอาด และหลีกเลี่ยง “อาหารขยะ” เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ

แน่นอนว่า.. อาหารที่มีน้ำมัน และสารปรุงแต่งมากเกินไป จะทำร้ายสุขภาพ แต่ถ้ากินอาหารที่ซ้ำซากเกินไป รวมทั้ง “การกินที่สะอาดแบบสุดโต่ง” จะทำให้สมองขาดสารอาหารในระยะยาวได้

โรงพยาบาลเคยมีผู้หญิงวัยกลางคนๆ หนึ่ง อายุประมาณ 50 ปี รูปร่างดี ผิวพรรณดี แต่เธอรู้สึกว่าสมองไม่ค่อยดี ช่วงหลังๆ เธอจำวันเกิดของคนในครอบครัวไม่ได้ด้วยซ้ำ

เมื่อเธอมาตรวจที่โรงพยาบาล เธอไม่มีโรคที่ชัดเจน แต่การตรวจระบบประสาทพบว่า การทำงานของสมองเธอลดลงใกล้เคียงกับคนอายุ 70 ปีเลยทีเดียว

หลังจากสอบถามพฤติกรรมการกินของเธอ พบว่าเธอแทบไม่กินเนื้อแดง ไม่กินไข่แดง ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูงเลย แต่ละวันเธอกินแต่ผัก อกไก่ และข้าวกล้อง

เธอคิดว่านี่คือ การกินเพื่อสุขภาพ แต่ความจริงแล้ว การขาดไขมันดี และคอเลสเตอรอลในระยะยาว จะทำให้สมองทำงานผิดปกติ

สมองเป็นอวัยวะที่มีไขมันมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ ประมาณ 60% เป็นไขมัน และการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทต้องอาศัยคอเลสเตอรอล

หากไม่ได้รับไขมันที่ดีต่อสุขภาพเพียงพอในระยะยาว เช่น อะโวคาโด ถั่ว ปลาทะเลน้ำลึก ไข่แดง หรือแม้แต่ไขมันสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม การทำงานของสมองจะช้าลง และการซ่อมแซมเซลล์ประสาทจะแย่ลง

การวิจัยพบว่าผู้ที่กินอาหารไขมันต่ำในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น ผู้ที่กินอาหาร “รสจืด” หรือแม้แต่กินมังสวิรัติ ต้องเสริมไขมันที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม มิฉะนั้น สมองจะ “อดตาย” ได้

  1. นอนดึกเป็นนิสัย

หลายคนเข้าใจว่า การนอนดึกมีผลต่อสภาพจิตใจเท่านั้น และการนอนชดเชยในวันรุ่งขึ้นจะช่วยฟื้นฟูได้ แต่ความจริงแล้ว การนอนดึกทำร้ายสมองมากกว่าที่คิด

เคยมีวิศวกรอายุ 40 กว่าปีคนหนึ่งมาหาผม เขามาตรวจสุขภาพ แต่ระหว่างสนทนา เขาบอกว่าช่วงหลังๆ เขามักจะขี้ลืม บางครั้งทำงานไปได้ครึ่งวัน ก็จำไม่ได้ว่าตัวเองต้องทำอะไร

เขากลัวว่าสมองจะมีปัญหา เขาเป็นคนสุขภาพดี และไม่มีประวัติโรคทางพันธุกรรม แต่ผมถามเขาว่า “ปกติคุณนอนกี่โมง” เขาหัวเราะแล้วตอบว่า “ส่วนใหญ่ตีสองตีสามครับ”

ปัญหาก็คือตรงนี้ ในขณะที่นอนหลับตอนกลางคืน สมองจะเริ่มโหมด “ทำความสะอาด” เพื่อกำจัดของเสียจากการเผาผลาญที่สะสมมาทั้งวัน ซึ่งรวมถึงสารที่เรียกว่า β-อะไมลอยด์ ซึ่งถือเป็นตัวการหลักของโรคอัลไซเมอร์

หากนอนดึกเป็นประจำ กระบวนการทำความสะอาดจะถูกขัดขวาง สารอันตรายเหล่านี้จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “บ่อขยะ” ในสมอง ทำให้เซลล์ประสาทเสียหายและตาย

มีการทดลองให้คนกลุ่มหนึ่งนอนเพียง 4-5 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าความจำและความเร็วในการตอบสนองของพวกเขาลดลงอย่างน่าตกใจ เหมือนแก่ขึ้น 20 ปี และคนที่นอนดึกเป็นประจำ สมองอาจมีขนาดเล็กลงด้วยซ้ำ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ผลกระทบของการนอนดึกไม่สามารถย้อนกลับได้ สมองไม่เหมือนผิวหนัง รอยคล้ำใต้ตาที่เกิดจากการนอนดึกสามารถหายไปได้ แต่ความเสียหายของสมองไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้

อย่าคิดว่าการนอนดึกตอนยังหนุ่มไม่เป็นไร พอถึงวัยกลางคน สมองจะเริ่มแก้แค้น ความจำเสื่อม ความคิดช้าลง หรือแม้กระทั่งภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร ล้วนเป็นผลมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ฝังไว้ตั้งแต่ยังหนุ่ม

  1. ไม่ชอบคิด

บางคนพอเกษียณก็เริ่ม “ปล่อยวาง” ตัวเอง ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่คิดไตร่ตรองแก้ปัญหา วันๆ เอาแต่ดูทีวี เล่นมือถือ คิดว่านี่คือ “การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” แต่ความจริงแล้ว การไม่ใช้สมองในระยะยาว คือตัวการสำคัญของโรคอัลไซเมอร์

โรงพยาบาลมีคุณลุงคนหนึ่ง อายุ 70 กว่าปี หลังเกษียณก็ใช้ชีวิตสบายๆ มีคนทำอาหารให้ มีคนทำงานบ้านให้ แม้แต่ซื้อกับข้าวก็มีคนช่วย ชีวิตดูสบายดี แต่เขากลับยิ่งสับสนมากขึ้น คนในครอบครัวบอกว่าช่วงหลังๆ เขามักจะลืมสิ่งที่เพิ่งพูดไป บางครั้งจำทางกลับบ้านไม่ได้ด้วยซ้ำ

หลังจากการตรวจ เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น

ลองดูผู้ป่วยอีกคนหนึ่ง อายุ 70 กว่าปีเหมือนกัน แต่หลังเกษียณเขาก็เริ่มเรียนเขียนพู่กันจีน เขียนหนังสือ ศึกษาบทความโบราณ และท้าทายโจทย์คณิตศาสตร์เป็นครั้งคราว ความคิดของเขายังคงกระฉับกระเฉงมาก เมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาล การทำงานของสมองเขายังสูงกว่าคนวัยเดียวกันด้วยซ้ำ

สมองเป็นอวัยวะที่ “ขี้เกียจ” ที่สุด หากไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน มันจะลดการเชื่อมต่อของเส้นประสาทโดยอัตโนมัติ เซลล์ประสาทจะค่อยๆ เสื่อมสภาพ เหมือนกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานานจะลีบเล็กลง

การวิจัยพบว่าผู้ที่มีนิสัยชอบเรียนรู้และชอบคิด สมองจะแก่ช้ากว่าผู้ที่ไม่ค่อยใช้สมอง แม้จะอายุมากแล้วก็ยังมีความจำและการตัดสินใจที่ดี

ดังนั้น อย่าคิดว่าเกษียณแล้วจะ “พักผ่อนอย่างเต็มที่” การไม่คิด ไม่เรียนรู้ คือวิธีที่เร็วที่สุดในการทำให้สมอง “ไร้ประโยชน์”

แม้จะอายุมากแล้ว ก็ควรอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และท้าทายสมองตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้มันทำงานอยู่เสมอ จะได้ไม่ถูกเวลากลืนกิน

หลายคนรอจนสมองเริ่มมีปัญหาถึงจะคิดแก้ไข แต่น่าเสียดายที่ความเสียหายจำนวนมากไม่สามารถย้อนกลับได้

หากต้องการให้สมองอ่อนเยาว์ อย่าทำผิดพลาด 3 อย่างนี้อีกต่อไป:

  • อย่ากินอาหารรสจืดเกินไป
  • อย่านอนดึกทำลายสมอง
  • อย่าปล่อยให้ตัวเองขี้เกียจคิด

โรคอัลไซเมอร์ ไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกะทันหัน แต่เป็นผลมาจากการสะสมทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่ยังหนุ่ม ทุกทางเลือกที่เราทำในวันนี้ จะส่งผลต่อตัวเราในอนาคต อย่ารอจนลืมญาติ ลืมว่าตัวเองเป็นใคร ถึงค่อยมานั่งเสียใจ

ที่มาและภาพ : sohu, freepik