“อดิทัต วะสีนนท์” อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการวิจัยและพัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือสิ้นอายุ ระหว่าง กพร. กับ บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จํากัด โดยกล่าวว่า กพร. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการวัตถุดิบ ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ และวัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย จะให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลขยะหรือของเสียทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อแยกสกัดแร่และโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
รวมถึงแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งที่ผ่านมากพร. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต้นแบบกระบวนการคัดแยกทางกายภาพสำหรับซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผ่านกระบวนการทางความร้อนเครื่องแรกในไทย

สำหรับ บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส ถือเป็นผู้ประกอบการชั้นนำด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดเพื่อนำกากอุตสาหกรรมไปเผาร่วมกับการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นเจ้าแรกของไทย “ปัญหาซากเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศที่มีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยคาดการณ์ว่าในปี 85 ประเทศไทยจะมีขยะจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมไม่น้อยกว่า 5 แสนตัน ดังนั้น เทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ จะเป็นต้นแบบของไทยที่จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือสิ้นอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร”
“ธีระพล ติรวศิน” ผู้อำนวยการธุรกิจการจัดการแผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพ Green Circular Business ในเครือเอสซีจี ขยายความว่า แผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทย โดยจะพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในแผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพได้อย่างคุ้มค่า นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ตามแผนจะเริ่มรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์เสื่อมสภาพในเชิงพาณิชย์ ไตรมาสที่ 2 ของปี 68 โดยความร่วมมือนี้จะทำให้มีวัสดุรีไซเคิลที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องหลากหลายประเภท เช่น อะลูมิเนียม เศษแก้ว ซิลิกอน ลวดนำไฟฟ้า และพลาสติก.