สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอธิบายถึงการใช้ระบบสองราคา ว่า “จะช่วยบรรเทาความกดดันต่อสถานที่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวหนาแน่น และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว”
ภายใต้ระบบใหม่นี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชมสูงกว่าคนญี่ปุ่น ตามความแตกต่างในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพ โดยรัฐบาลยกตัวอย่าง “จังเกลีย โอกินาวา” (Junguria Okinawa) ซึ่งเป็นสวนสนุกแห่งใหม่ที่จะเปิดในเดือน ก.ค. ที่กำหนดราคาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 8,800 เยน (ราว 2,006 บาท) ขณะที่ชาวญี่ปุ่นจ่ายเพียง 6,930 เยน (ราว 1,580 บาท)
#Japan In a bid to tackle over-tourism while generating additional revenue.https://t.co/uGMsw4TWbl
— The Star (@staronline) March 11, 2025
ทางสวนสนุกได้ให้เหตุผลประกอบการกำหนดราคา ด้วยการเปรียบเทียบกับสวนสนุกต่างชาติ และย้ำถึงบทบาทของสวนสนุกในการระดมทุนเพื่อปรับปรุงสถานที่
ในทางกลับกัน นโยบายดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับความยุติธรรม และความเป็นไปได้ของการแบ่งแยกนักท่องเที่ยวออกจากคนในท้องที่ ซึ่งต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง อาทิ “ปราสาทฮิเมจิ” ซึ่งกำหนดราคาตามภูมิภาค และแยกความแตกต่างระหว่างประชาชนในพื้นที่ กับนักท่องเที่ยว แทนการแบ่งแยกด้วยสัญชาติ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ระบบสองราคาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่รวมถึง “วัดพระแก้ว” ของไทย และ “ทัชมาฮาล” ในอินเดีย ซึ่งเก็บค่าธรรมเนียมจากชาวต่างชาติ ในอัตราที่สูงกว่ามานานแล้ว.
เครดิตภาพ : AFP