เมื่อวันที่ 11 มี.ค.68 นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ต.ค.67 ได้รับรายงานจากชุดเฝ้าระวังช้าง ในเขต ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่า พบโขลงช้างป่า ออกหากินอยู่ในพื้นที่ และกล้องเฝ้าระวังช้างสามารถบันทึกไว้ได้ โดยจากภาพดักถ่ายสัตว์ป่า พบว่า โขลงช้างป่านี้ มีช้างตัวเล็ก 1 ตัว คาดว่าอายุไม่เกิน 5 ปี แต่กลับพบว่า มีลักษณะพิเศษ งายาวกว่า 60 ซม. และมีลักษณะพิเศษและสง่างาม ซึ่งถือว่าหายากมากในช้างวัยเดียวกัน สร้างความฮือฮาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก กระทั่งได้สั่งการให้ติดตามและเฝ้าระวังจากผู้ล่าที่ไม่ประสงค์ดีนั้น
สุดฮือฮา! พบลูกช้างป่าสุดหายาก งายาว-สง่างาม กลางผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน

ล่าสุด จากการตรวจสอบ ได้รับรายงานจากชุดเฝ้าระวังช้าง ในเขต ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า พบโขลงช้างป่า ออกหากินอยู่ในพื้นที่ และกล้องเฝ้าระวังช้างสามารถบันทึกไว้ได้ โดยพบว่า ช้างป่าตัวงายาว ที่พบเจอครั้งนั้น ได้เดินตามโขลงเข้ามาในกล้อง โดยกล้องบันทึกได้เมื่อวันที่ 10 มี.ค.68 ที่ผ่านมา โดยลักษณะตัวและงายังสมบูรณ์ โดยพบว่างา มีความยาวงุ้มเข้าลักษณะคล้ายงาทรงอุ้มบาตร คือช้างที่มีลักษณะงาขนาดยาวและโค้งเหมือนแขนพระที่อุ้มบาตร ตามความเชื่อของชาวศรีลังกา เชื่อกันว่าช้างที่มีลักษณะงาแบบนี้เหมาะกับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระเขี้ยวแก้ว ที่พิเศษกว่านั้น ยังพบว่า ช้างในโขลงนี้ ในวัยเท่ากัน ยังมีอีกตัวที่มีลักษณะงายาวกว่าปกติ อีก 1 ตัวด้วย ซึ่งถือเป็นความน่ายินดีเป็นอย่างมาก ที่ในโขลงนี้ พบช้างงายาวถึง 2 ตัวทีเดียว
สุดพิเศษ! พบลูกช้างป่าแก่งกระจานงายาวกว่าช้างวัยเดียวกัน เกือบ 5 เท่าของปกติ

ทั้งนี้ช้างโขลงดังกล่าว วนเวียนหากินในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ได้ออกแนวเขตไปสร้างความเดือดร้อนแก่ที่ทำกินของคนในพื้นที่ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามช้างป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่สั่งการให้ติดตามและจัดระบบของศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้มีประสิทธิภาพ.

ขอบคุณภาพ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน