เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่รัฐสภา นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุม กมธ. โดยมีวาระพิจารณาพิจารณาติดตามการบุกรุกที่ดินในพื้นที่จ.จันทบุรีและพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง จ.ตราด และการแก้ไขปัญหากรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกทุเรียนโดยกลุ่มทุนต่างชาติ ในพื้นที่ตำบลคลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชน 2 ราย ที่มีชื่อครอบครองที่ดินป่าสงวนฯ เข้าชี้แจง อย่างไรก็ตามในส่วนของบริษัทเอกชนไม่มีการส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม กมธ.แต่อย่างใด
โดยนายชีวะภาพ เปิดเผยถึงผลการประชุมกมธ. ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่ง กมธ.ได้ติดตามปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ เพื่อทำสวนทุเรียนมาตั้งแต่ต้น โดยเป็นการติดตามความคืบหน้าใน 3 ประเด็นที่ กมธ.มีข้อห่วงใย คือ 1.ในเรื่องของคดีมีการดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ ในประเด็นที่สื่อและประชาชนให้ความสนใจอยู่ ในส่วนแรก กรณีการบุกรุกอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง กรมป่าไม้ชี้แจงว่าได้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตชลประทานและกำลังดำเนินการตามที่ กมธ.ได้ตั้งประเด็นไว้ พร้อมดำเนินการในเรื่องการรื้อถอนเพื่อนำกลับมาเป็นป่าชุมชนและพื้นที่ของกรมชลประทานตามเดิม ซึ่งกรมชลประทานก็พร้อมร่วมมือในการฟื้นฟู แต่ไม่ได้มีอำนาจในเรื่องการรื้อถอน ซึ่งกรมป่าไม้ได้ขยายผลในเรื่องนี้แล้ว
นายชีวะภาพ กล่าวว่า 2.กรมป่าไม้รายงานในเรื่องของพื้นที่ซ้อนทับ คทช. ที่อ.ท่าตะเกียบ มีการดำเนินคดีปไปได้ 300 กว่าไร่ กมธ.ได้ตั้งคำถามว่าการแจ้งคอบครอบที่ดิน ภ.บ.ท.5 ของบริษัทเอกชนมีจำนวน 688 ไร่ จึงเห็นควรดำเนินการให้ครบถ้วน ซึ่งทางรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ฉะเชิงเทรา รายงานว่าได้ขยายผลว่ามีใครเกี่ยวข้องของบ้าง โดยดำเนินการในรูปบริษัท กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนและจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป 3. กมธ.กังวลเรื่อง ใบ ภ.บ.ท. 5 ที่มีการซื้อขาย โอนสิทธิ์ที่ อบต. จึงเชิญกรมการปกครองมาร่วมชี้แจงด้วย ซึ่งทางกรมการปกครองยังยืนยันในเรื่องหนังสือเวียนของกรมการปกครองเมื่อปี 2551 ที่ออกไปยังส่วนราชการต่างๆ ในสังกัดห้ามมีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน ภ.บ.ท. 5 ยังใช้หนังสือเวียนนี้อยู่ เจตนารมณ์คือไม่อยากให้เอา ภ.บ.ท.5 มาซื้อขาย อ้างสิทธิ์ ขณะที่ อบต.ที่เข้าร่วมชี้แจง อ้างในเรื่องภาษีบำรุงท้องที่ และใบรับแจ้งโอนสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเป็นการสำคัญผิดว่าไม่รู้อำนาจอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้ ดังนั้นทางกมธ.เราจะขยายผล เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาทำความเข้าใจ และต้องมีการปรับแก้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ดำเนินการขัดต่อกฎหมาย และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนต่อไป
“มีการเชิญบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง มาร่วมชี้แจง กมธ.ด้วย แต่เขาไม่มา ซึ่งกมธ.ต้องเชิญ เพราะเขามีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ ส่วนการดำเนินคดีขึ้นกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจยืนยันว่ามีหลักฐานชัดเจน ว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ที่สำคัญมีหลักฐานการโอนสิทธิ์ คทช. ที่ อบต. จำนวน 5 – 6 แปลง เนื้อที่688 ไร่ ให้กับบริษัทเอกชนโดยตรง ไม่ได้การตั้งนอมินีมารับแทน ซึ่งอบต.ไม่มีอำนาจหน้าที่โอนสิทธิ์ในป่าสงวนฯ ให้ใคร เป็นประเด็นต่อไปว่ากมธ.จะต้องหาข้อเท็จจริงและข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะ คทช. มีหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้คำว่าโอนสิทธิ์ การเอาที่ดินผิดกฎหมายมาโอนแบบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพยานรับรู้รับทราบ เท่ากับเป็นการเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุน ซึ่งไม่สามารถทำได้”นายชีวะภาพ กล่าว
นายชีวะภาพ กล่าวต่อว่า วันนี้เราสรุปตามข้อกฎหมายว่าบริษัทที่รับโอนมา ผิดชัดเจนทั้งคนที่โอนให้และคนที่รับโอน ในเมื่อไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย ถึงจะเป็นหรือไม่เป็นที่ดิน คทช. ก็ไม่เกี่ยวกัน ทั้งนี้เราต้องสร้างความกระจ่างในเรื่อง ภ.ท.บ. 5 กับเรื่องการโอนสิทธิ์ว่าซื้อขายไม่ได้ ยิ่งมันอยู่ในเป้าหมายพื้นที่ คทช. ต้องอยู่ในมือพี่น้องชาวท่าตะเกียบเท่านั้น จะไปอยู่ในมือ อบต.ที่ไปร่วมมือกับเขา หรืออยู่ในมือนายทุนอันนี้คงไม่ได้.