ยังต้องตามลุ้นอยู่ว่า ในที่สุดญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จะดำเนินการได้หรือไม่ หลัง “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ระบุให้พรรคฝ่ายค้านนำโดย “พรรคประชาชน (ปชน.)” ไปแก้ไข เพราะในเนื้อหาญัตติมีการระบุชื่อ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ  โดยถูกระบุว่าเป็นคนนอก ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ยืนยันว่า เป็น สส.มา 40 กว่าปี ไม่เคยมีญัตติที่เขียนชื่อคนนอกไว้ เรื่องอำนาจการ บรรจุระเบียบวาระ ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เคยวินิจฉัย ในประเด็นแก้ไข รธน. ไว้แล้วว่าประธานรัฐสภามีหน้าที่บรรจุระเบียบวาระและควบคุมการบริหารงานสภา

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค ปชน. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา เรื่อง ข้อโต้แย้งหนังสือให้แก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล กรณีใส่ชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ลงในญัตติ โดยในเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ด้วยประธานสภาได้รับญัตติของข้าพเจ้าและคณะเมื่อวันที่ 27  ก.พ. 68 แต่กลับมีหนังสือ แจ้งข้อบกพร่อง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 68 อันเป็นวันที่พ้นระยะเวลาเจ็ดวันตามที่ข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 กำหนด จากที่กล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าและคณะขอยืนยันว่า ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของข้าพเจ้าและคณะนั้น ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 และรธน.ทุกประการ ดังนั้น จึงขอให้ประธานสภาพิจารณาบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาโดยเร็วที่สุดต่อไป 

ด้าน “นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์” โฆษกประธานสภา ชี้แจงกรณีหนังสือโต้แย้งของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ปชน. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ กรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา วินิจฉัยให้แก้ไขข้อบกพร่องในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า เมื่อพิจารณาจาก ข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 178 และข้อ 69 แล้วจะเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ห้ามผู้อภิปราย ออกชื่อบุคคลใด โดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในญัตติพบว่ามี สส.ของพรรคฝ่ายค้านจำนวน 10 รายที่ลายมือชื่อไม่ตรงกับที่เคยให้ไว้กับสภา จึงให้ไปแก้ไข 

ด้าน “ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์” เลขาธิการสภา กล่าวเสริมว่า ในฐานะประธานสภา ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ถ้าชื่อของบุคคลภายนอกไปปรากฏอยู่ในญัตติ และมีการปรากฏอยู่ในสาธารณชน เพราะเป็นคนใช้อำนาจในการ อนุญาตให้บรรจุญัตติ จึงเห็นว่าควรให้ตัดการที่มีบุคคลภายนอกออกไป เมื่อถามย้ำว่า หากไม่แก้ญัตติก็คือ ไม่บรรจุวาระการประชุม เลขาธิการสภา กล่าวว่า “ครับๆ ตอนนี้ท่านประธานสภา ก็มีดำริให้นโยบายมา ในส่วนของ สำนักงานเลขาธิการสภา ภายในวันที่ 11-12  มี.ค.นี้ ผมก็จะทำหนังสือชี้แจงในข้อที่ผู้นำฝ่ายค้านโต้แย้งมา ยืนยันหนังสืออย่างเป็นทางการไปอีกครั้งหนึ่ง”

ส่วน “นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน.ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ยื่นหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา เพื่อโต้แย้งหนังสือให้แก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า การอภิปราย คงเกิดขึ้นอยู่แล้ว หากการอภิปรายไม่เกิดขึ้นภายในสมัยประชุมนี้ ประชาชนคงต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาล พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ถ่วงดุลในระบบสภาหรือไม่ หากย้อนกลับไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เขารู้สึกว่า นายราเกซ สักเสนา นั่งอยู่ในสภาด้วย เพราะทุกคนลุกขึ้นมาพูดชื่อนายราเกซตลอดเวลา ดังนั้นในประวัติศาสตร์แน่ชัดว่าข้อบังคับไม่ได้ห้ามอย่างเด็ดขาดในการพูดถึงบุคคลภายนอก 

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านยืนยัน จะไม่แก้ญัตติใช่หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เรายืนยันว่าถูกต้องตามข้อบังคับ แต่ถ้าจะใช้อำนาจหรือขอความร่วมมืออะไร ตนคิดว่ามาพูดคุยกัน เราไม่ได้พูดคุยอะไรไม่ได้เลย จะหาทางออกกันตรงไหน แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจหรืออ้างข้อกฎหมาย ข้อบังคับ แบบที่ไม่ตรงไปตรงมา หรือทำตามอำเภอใจตนเอง เมื่อถามว่าจะได้ข้อสรุป ทันเปิดอภิปรายหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า อยากให้มีข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ ภายในสัปดาห์หน้าก็ยังทัน เพราะมีการคุยกันแล้วว่า การอภิปรายควร เกิดขึ้นในสัปดาห์ไหน เมื่อถามว่าฝ่ายค้านไม่ได้ปิดประตูในการแก้ญัตติใช่หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ลองพูดคุยกันก่อนดีกว่า หากทางฝ่ายกฎหมายของสภา ยืนยันชัดเจน คิดว่าประธานสภาจะมองเห็นอะไรบางอย่าง ว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่ ถูกต้องตามข้อบังคับ หรือไม่ และหากผลตีความของฝ่ายกฎหมายออกมาแล้วรอดูประธานสภาอีกครั้งว่าจะว่าอย่างไร

ต้องรอดูว่า บทสรุปของการหารือ ระหว่างฝ่ายค้าน และ ประธานสภา จะได้ข้อยุติอย่างไร  เพราะทีมกฎหมายของประธานสภา ยืนยัน  หากไม่มีการแก้ไขญัตติ จะไม่มีการบรรจุวาระ ซึ่งหมายความต้องไม่มีชื่อ “นายทักษิณ ชินวัตร” อยู่ในญัตติ  ส่วน “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ  กล่าวถึงถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ยังมีประเด็นการ ตัดชื่อคนนอก อยู่ได้พูดคุยกับ นายทักษิณ บ้างหรือไม่ว่า  เขาไม่ว่าอะไรเลย  พร้อมบอกด้วยว่า หรือจะให้ไปตอบในสภาหรืออย่างไร แต่ ก็เข้าไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อถามว่าส่วนตัวติดหรือไม่หากมีชื่อนายทักษิณในญัตติ นายกฯ กล่าวว่า  ข้อเท็จจริง อย่าใช่อารมณ์เลย หลักการ กฎ คืออะไรดีกว่า ถ้าเราไม่ทำตามกฎ ตามหลักการ ตั้งกฎ ตั้งหลักการไว้ทำไม ถ้าสมมุติว่าหลักการมันเข้าได้ ได้เลย เราจะห้ามอย่างไร แต่ถ้าหลักการเข้าไม่ได้ จะฝืนหลักการก็ไม่ได้   เมื่อถามอีกว่าการยื้อกันแบบนี้เป็นการเมืองเกินไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อยากรู้สุดท้ายจะเหลืออภิปรายกี่วัน สื่อมวลชนจึงกระเซ้าว่า “5 วัน” นายกฯ หัวเราะก่อนตอบกลับว่า “เดือนนึงเลยมั้ยละ” ก่อนบอกว่า “ก็แล้วแต่ได้หมด กี่วันก็มา”

ส่วนกระบวนการตรวจสอบ การได้มาซึ่ง สว. นั้น  มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจาก “สว.สีน้ำเงิน” โดย “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.” ให้สัมภาษณ์กรณี 30 สว.จะเดินทางยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่า ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับคดีฮั้ว สว.ข้อหาฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ ก็มีประเด็นเกิดขึ้นมาอีกว่าการดำเนินการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่เป็นคนละเรื่องกับจริยธรรม อำนาจหน้าที่ของอธิบดีดีเอสไอ ก็สามารถรวบรวมหลักฐานที่มีอยู่แล้ว และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ โดยไม่ต้องทำเอง และไปกล่าวหาว่า กกต.ล่าช้า คุณถูกอำนาจอะไรครอบงำ อยู่ถึงไม่ส่ง กกต.  แสดงว่าคุณขาดจริยธรรมจงใจกลั่นแกล้ง ส่วนจะมีการ เชิญ พ.ต.อ.ทวี และ อธิบดีดีเอสไอ มาชี้แจงในกมธ.หรือไม่นั้น พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ทางกมธ. ยังไม่ได้ นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม แต่คาดว่าจะเป็นเร็ว ๆ นี้

ด้าน “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สว. 30 คน ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิด พ.ต.อ.ทวี  และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่า ถือเป็นสิทธิ อยากให้วิทยาศาสตร์เป็นตัวฟ้อง และเชื่อมั่นว่าพยานบุคคลที่เราได้มา บวกกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จะเป็นตัวชี้ชัด เราไม่มีสิทธิไปกลั่นแกล้ง หรือช่วยเหลือใคร ให้ความจริงและความเป็นธรรมเป็นตัวกำหนด คนที่ปรากฏในโพย ตรงกับชื่อ สว. 138 คน และในบรรดานี้มีตำแหน่งเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงคนเดียว เพราะไปจับสลากกัน เช่น ตำแหน่งประธานและรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) แต่ยืนยันว่าทั้งหมด ไม่ใช่สิ่งที่ตนพูด เป็นสิ่งที่โพยพูด ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการที่ พ.ต.อ.ทวีถูกยื่นเรื่อง ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.หลายเรื่อง ทั้งกรณีชั้น 14 และกรณีที่ สว.ยื่นถอดถอน ทำให้รู้สึกกังวลหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไรบ้าง แต่การ ร้องเรียนถือเป็นสิทธิ

ต่างฝ่าย ต่างก็ใช้สิทธิ  ดังนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อกฎหมาย และ อำนาจของแต่ละองค์กร  คงต้องรอหลักฐานของฝ่ายผู้กล่าวหา และผู้ถูกล่าวหาใครจะ มีน้ำหนักมากกว่ากัน

ทีมข่าวการเมือง