ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 มี.ค. 68 เวลา 08.30-10.00 น. สภาผู้บริโภค เตรียมเข้ายื่นหนังสือถึง นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ชะลอออกประกาศหลักเกณฑ์ ประมูลคลื่นความถี่ ชี้กระทบการแข่งขัน-ประโยชน์ผู้บริโภค ณ สำนักงาน กสทช. พหลโยธิน ซอย 8 นำโดย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค และนายอิฐบูรณ์ อันวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค

โดยยกเหตุผลว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ อาจไม่เป็นธรรมหรือไม่ เมื่อผู้ให้บริการเหลือเพียง 2 ราย แต่มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกันถึง 6 ย่านความถี่ ประมูลคลื่นความถี่พร้อมกัน 6 คลื่น รวม 450 MHz มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz โอกาสในการแข่งขันจึงแทบไม่เหลือ ส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมอาจขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและพัฒนา และผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบจากค่าบริการและคุณภาพที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดไทม์ไลน์ในการประมูล 2 วัน คือ  17-18 พ.ค. 68 ภายใต้งบประมาณ 70 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • เสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อคณะทำงานในวันที่  21-24 ก.พ. 2568
  • เสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการ 25-28 ก.พ. 2568
  • จากนั้นจะเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อที่ประชุม กสทช. 4 มี.ค. 2568
  • ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 6-13 มี.ค. 2568
  • การรับแบบคำขอใบอนุญาตฯ และการประมูลคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช. จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการปะมูลระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-13 เม.ย. 2568
  • เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 เม.ย. 2568
  • สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติ เสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาในวันที่ 17-28 เม.ย. 2568
  • เสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาผลการตรวจคุณสมบัติในวันที่ 28 เม.ย.-2 พ.ค. 2568
  • ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลในวันที่ 6 พ.ค. 2568
  • เตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล (Mock Auction) 8 พ.ค. 2568
  • กำหนดวันประมูล (Auction) ในวันที่ 17-18 พ.ค. 2568 เป็นเวลา 2 วัน หลังจากนั้น จะมีการจัดประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณารับรองผลการประมูล ภายใน 7 วัน

ขณะที่ก่อนหน้านั้น สภาผู้บริโภคได้ออกมาให้ความเห็นว่า ตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ หลังการควบรวมของ ทรู-ดีแทค และ AIS-3BB ซึ่งถูกโฆษณาว่าจะช่วยลดค่าบริการและยกระดับคุณภาพเครือข่าย แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ค่าบริการพุ่งสูง คุณภาพยังเป็นปัญหา แพ็กเกจราคาถูกเริ่มหายไป ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงบทบาทของ กสทช. ที่ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ