เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 68 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ซึ่งเป็นของ “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความสุดเศร้า เมื่อ “พะยูน” ตัวที่ 9 อดอาหารจนผอมและป่วยตาย มิหนำซ้ำมีคนใจร้ายหั่นเขี้ยวเอาไปขายทั้งสองข้าง นับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่กลับมีคนบางจำพวกตัดหัวเพื่อเอา “เขี้ยว” จากความไม่รู้และความเชื่อผิดๆ ที่สืบต่อกันมา

โดย ดร.ธรณ์ ระบุข้อความว่า “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ได้รับแจ้งจาก “นายอาหลี ชาญน้ำ” เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.กระบี่ เรื่องพบซากพะยูนเกยตื้น บริเวณอ่าวโล๊ะใหญ่ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ทางเจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงได้ประสานกับผู้แจ้งเหตุในการขนย้ายซากพะยูนให้กับเจ้าหน้าที่ ศวอล. ณ ท่าเรือแหลมกรวด จ.กระบี่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าเป็นพะยูน (Dugong dugon)”

อีกทั้ง “สภาพซากสด ความยาวลำตัววัดแนบ 280 ซม. เพศผู้ โตเต็มวัย ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ผอม (BCS =2/5) ลักษณะภายนอกพบรอยเขี้ยว จากพฤติกรรมฝูงบริเวณหลัง มีเพรียงเกาะตามลำตัว พบแผลฉกรรจ์บริเวณริมฝีปากและช่องปาก จากการตัดเลาะเขี้ยวทั้ง 2 ข้างออกไปด้วยความชำนาญ ซึ่งเกิดหลังพะยูนตายแล้ว ไม่พบร่องรอยบาดแผลจากการติดเครื่องมือประมง จากการผ่าชันสูตรอวัยวะภายในพบว่า หัวใจมีลักษณะไขมันเหลวสะสมบริเวณผนังด้านนอก บ่งบอกว่าสัตว์มีภาวะขาดอาหารมาเป็นระยะเวลานาน”

นอกจากนี้ “ต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงภาวะติดเชื้อในร่างกาย ส่วนของหลอดลมและปอดพบก้อนหนองสีขาวขุ่นกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ และอัดแน่นบริเวณส่วนบนของเนื้อเยื่อปอดข้างซ้าย ปอดและม้ามสีไม่สม่ำเสมอ ส่วนของทางเดินอาหารพบว่า อาหารภายในกระเพาะอาหารจำพวกเศษหญ้าทะเล และพบพยาธิตัวกลมภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ พบก้อนหนองและปื้นเลือดออกบริเวณผนังลำไส้เล็กหลายตำแหน่ง”

อีกทั้ง “ยังพบเศษขยะทะเล ได้แก่ เศษเชือกด้าย เศษพลาสติกเล็กน้อยในลำไส้ใหญ่ แต่ไม่ใช่สาเหตุการตาย สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยเรื้อรัง จากภาวะการติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน ทำให้สัตว์อ่อนแอและตายในที่สุด โดยทางเจ้าหน้าที่ศวอล.ได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป”

สำหรับ “พะยูน” ที่มีตำแหน่งเป็นถึงตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤติที่พะยูนได้เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งถิ่นอาศัยลดลง หญ้าทะเลหายเกลี้ยง และต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากเขี้ยวพะยูนมีคุณวิเศษจริง ก็ควรปกป้องให้พะยูนมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้มิใช่หรือ ไม่ใช่ปล่อยให้พะยูนต้องเผชิญกับสถานการณ์อันโหดร้ายเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม “ความเชื่อ แม้บางครั้งอาจไม่ได้อยู่บนฐานของความจริง หรือความถูกต้องตามหลักเหตุและผลที่ควรจะเป็น แต่อย่างน้อยความเชื่อเหล่านั้น ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จากการกระทำของตนเอง และหากมองให้ลึกลงไปถ้าการที่เราเชื่อว่า เขี้ยวพะยูนเป็นเครื่องรางของขลังได้จริง เหตุใดพะยูนถึงเกยตื้นตาย และถูกซ้ำเติมด้วยการโดนตัดหัวได้ง่ายดายขนาดนี้ ตามที่ได้ปรากฏในข่าวและสื่อต่างๆ”

ขอบคุณข้อมูล : Thon Thamrongnawasawat และ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร