เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมด้วย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายดิเรก คชารักษ์ รองอธิบดีกรมศุลกากร พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ร่วมแถลงผลการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าผ่านแดน กว่า 2 แสนชิ้น มูลค่า 33.07 ล้านบาท

นายจุลพันธ์ เผยว่า ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายสั่งการให้ปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออกบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมถึงการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วนให้เห็นผลภายใน 30 วัน นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนและร้านค้ารอบสถานศึกษา เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของประชาชน โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้ขานรับนโยบายและสั่งการให้กรมศุลกากร โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดเพื่อตอบสนองนโยบายอย่างเคร่งครัด พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ เพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกบุหรี่ไฟฟ้าทุกช่องทาง รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่มี

การลักลอบนำเข้าหรือผ่านแดน กรมศุลกากรมีการรวบรวมข้อมูลการข่าวและจับตาพฤติการณ์ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมศุลกากรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 เวลา 18.00 น. กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และกองสืบสวนและปราบปรามกรมสอบสวนคดีพิเศษ สภ.เมืองชลบุรี สภ.แหลมฉบัง และตำรวจภูธรภาค 2 ร่วมกันตรวจสอบตู้สินค้าผ่านแดน จำนวน 1 ตู้คอนเทเนอร์ ณ ท่าเรือ LCMT (A0) สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศต้นทางจากประเทศจีน ส่งไปยังประเทศเมียนมา

โดยนำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง และจะไปทำการตรวจปล่อยที่ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก โดยสำแดงสินค้าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรและอื่นๆ 1,173 กล่อง ผลการตรวจสอบพบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง 6,000 ชิ้น มูลค่า 1,200,000 บาท น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 6,000 ชิ้น มูลค่า 900,000 บาท หัวพอตบุหรี่ไฟฟ้าที่ภายในบรรจุน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 190,100 ชิ้น มูลค่า 28,515,000 บาท และเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 8,200 ชิ้น มูลค่า 2,460,000 บาท รวมทั้งหมด 210,300 ชิ้น มูลค่ารวม 33,075,000 บาท

อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และประกาศกรมศุลกากรที่ 185/2564 เรื่อง พิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ข้อ 6 ในกรณีนี้จะไม่มีการระงับคดีในชั้นศุลกากร สำหรับสถิติการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า ในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567-7 มีนาคม 2568) จับกุมได้ 298 คดี มูลค่า 73.25 ล้านบาท