จากกรณีตรวจพบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกทุเรียนโดยกลุ่มทุนต่างชาติ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด หมู่ 20 บ้านห้วยนา และหมู่ 14 บ้านเขากล้วยไม้ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้นโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งยังพบว่ามีการสวมสิทธิ ในที่ดินที่จัดสรรให้กับราษฎร ในโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชุมชน ของ คทช. ที่ทางเดลินิวส์ได้นำเสนอข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่จุดกำเนิด คทช. นโยบาย และการดำเนินการในการจัดการที่ดิน รวมไปถึงเงื่อนไขต่างๆ ของผู้มีสิทธิ รวมไปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

มองลึกโครงการจัดสรรที่ดิน คทช. สุดท้ายใครได้ประโยชน์ ‘ชุมชน-นายทุน-รัฐ’

ทีมข่าวพิเศษเดลินิวส์ ได้ติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเกาะติดสัมภาษณ์พิเศษ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ได้แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อคนจน หรือเพื่อผู้ยากไร้ ที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายอะไรที่ดีๆ ให้กับคนจนจริงๆ รวมไปถึงนโยบายของ คทช. ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้จะบอกว่า เป็นการจัดที่ดินให้กับผู้ยากไร้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากไปดูและศึกษาอย่างละเอียด ในเงื่อนไขต่างๆ ที่ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้กำหนด จะพบว่ามีการจัดสรรให้อยู่ในพื้นที่ ได้เพียง 20 ปี หรือแค่ 30 ปี ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเท่ากับว่าชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินแปลงนั้น ขาดความมั่นคงในชีวิต ในส่วนของชาวบ้าน หรือผู้ยากไร้ ที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน จึงคิดว่า เพราะไม่มีความมั่นคงในชีวิต เมื่อมีบุคคลมาขอซื้อที่ดิน ก็ขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายดีกว่า

แต่ในขณะที่นายทุน ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิในที่ดิน แต่สนใจเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ดังนั้นถ้าเกิดนายทุนได้ที่ดินมา ดำเนินกิจการขนาดใหญ่ เช่น สวนทุเรียน สวนยางพารา ใช้ที่ดินได้ในระยะเวลา 20 ปี นายทุนก็มองว่าในช่วงระยะเวลา 20 ปี เมื่อดำเนินกิจการได้คุ้มทุน ก็เลิกไป ไม่ได้เป็นปัญหา ไม่เดือดร้อน แต่ขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะไม่มีที่ดินทำกิน หรือว่าถ้าระยะเวลาในการให้ใช้พื้นที่ได้แค่ 20 ปี แล้วต้องออกไปจากพื้นที่ ชาวบ้านหรือผู้ยากไร้ ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน พอไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ก็เป็นปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาอีก

นายบารมี ยังกล่าวเพิ่มเติมถึง นโยบาย คทช. ว่าหากพิจารณาในรายละเอียดทั้งหมดของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้านจริงๆ หรือไม่ ตนมองว่าเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านหรือผู้ยากไร้ ไม่ใช่เจตนาที่แท้จริง แต่เจตนาที่แท้จริงของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หากดูในรายละเอียดจริงๆ แล้ว พบว่า ต้องการให้ชาวบ้านที่ได้รับอนุญาตจาก คทช. ดำเนินการปลูกป่าให้รัฐ เป็นหลักสำคัญ เมื่อดูเงื่อนไขแต่ละพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือในเขตป่าอนุรักษ์ ผู้ที่ได้รับอนุญาตต้องปลูกต้นไม้ยืนต้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ต่อปี ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ต้องปลูกไม้ยืนต้น 20% ของพื้นที่ 20 ไร่ และหากมาดูในยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องของการจัดการที่ดินป่าไม้ ควบคู่ไปกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะพบว่าทั้ง 2 ส่วน คือ ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของ คทช. มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี พ.ศ. 2580 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า จะมีการดำเนินการนำที่ดินในโครงการฯ ของ คทช. ไปดำเนินในการปลูกป่าส่วนหนึ่ง และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ จึงหมายความว่า คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีเจตนาอยู่แล้ว ว่าจะยึดที่ดินคืนจากชาวบ้านผู้ที่ได้รับอนุญาต

นายบารมี กล่าวว่า หากชาวบ้านผู้ที่ได้รับอนุญาต รู้ถึงเจตนาที่แอบแฝงของนโยบาย คทช. ตนมองว่าไม่มีชาวบ้านคนใด ยอมแน่นอน ดังนั้น การจัดที่ดินตามโครงการ คทช. ไม่ใช่เป็นการจัดเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนจน คนยากไร้ ที่ไม่มีที่ทำดินกิน แต่เป็นโครงการฯ ที่จะนำที่ดินไปดำเนินการปลูกป่า เพื่อที่จะนำไปเป็นพื้นที่เก็บกักคาร์บอน จากนั้นนำไปร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต เพื่อขายคาร์บอนเครดิต โดยที่ใช้ชาวบ้านที่ได้รับอนุญาต เป็นคนปลูกพืชยืนต้นให้ นี่คือเงื่อนไข นี่คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ตนเห็นว่าเมื่อรัฐ หรือว่า คทช. ไม่ตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก ก็อย่าไปโทษชาวบ้านที่ไม่ตรงไปตรงมา ตนมองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้อย่างจริงจัง และจริงใจ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต จะมีวิธีการป้องกันอย่างไร ต้องมีการออกนโยบายในเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การจัดการที่ดินให้กับราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ผู้ยากไร้ นั้น จะทำอย่างไร ให้วิถีชีวิตของบุคคลเหล่านี้ มีชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนตลอดไป และร่วมกันมีจิตสำนึกในการรักษาป่า รักษาธรรมชาติ ของประเทศให้คงอยู่ต่อไป.