นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้กำชับท่าเรือระนอง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เตรียมท่าเทียบเรือ พื้นที่ลานวางตู้สินค้า รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการให้พร้อม เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากประเทศเมียนมาที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ และปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ม.ค.67 ทำให้การนำเข้า – ส่งออกไปประเทศเมียนมา และสินค้าผ่านแดนที่ปกติต้องผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก และด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย ย้ายมาใช้บริการผ่านด่านจังหวัดระนองเพิ่มขึ้น ปัจจุบันท่าเรือระนอง มียอดการนำเข้า – ส่งออกสินค้าพุ่งสูงขึ้นกว่า 200%

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.67 ท่าเรือระนองมีสินค้านำเข้า – ส่งออกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และกระดาษม้วน ส่งผลให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66 – ก.ย.67) มีเรือเทียบท่าทั้งสิ้น 281 เที่ยว เพิ่มขึ้น 69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตู้สินค้าผ่านท่า 2,796 ตู้ เพิ่มขึ้น 111% สินค้าผ่านท่า 324,933 ตัน เพิ่มขึ้น 251% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค. – ธ.ค.67) มีเรือเทียบท่า 61 เที่ยว เพิ่มขึ้น 91% ตู้สินค้าผ่านท่า 2,002 ตู้ เพิ่มขึ้น 458% สินค้าผ่านท่า 21,294 ตัน เพิ่มขึ้น 26%

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า จากการเติบโตของท่าเรือระนอง สะท้อนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าส่งออกของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และกระดาษม้วน ขณะที่การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สะท้อนถึงความต้องการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่เติบโตขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของปริมาณเรือ และตู้สินค้าชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของท่าเรือระนองในการเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลฝั่งอันดามันที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายของ กทท. ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของระบบโลจิสติกส์ไทยในระดับภูมิภาค

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า กทท. พร้อมพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือทั้ง5 แห่ง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยปัจจุบันท่าเรือระนองมีท่าเทียบเรือทั้งหมด 2 ท่า ได้แก่ ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ รองรับเรือสินค้าขนาด 500 ตันกรอส และท่าเทียบเรือตู้สินค้า รองรับเรือได้ไม่เกิน 12,000 เดทเวทตันและมีพื้นที่ฝากเก็บสินค้า ประกอบด้วย โรงพักสินค้าขนาด 1,500 ตารางเมตร ลานวางสินค้าทั่วไปขนาด 7,200 ตารางเมตร ลานวางตู้สินค้าขนาด 11,000 ตารางเมตร สามารถวางตู้สินค้าได้ประมาณ 800 ทีอียู.