ต่อมาเกิดดรามาในเรื่องกรอบระยะเวลาในการซักฟอก โดยรัฐบาล “พรรคเพื่อไทย” พลิกเกมสู้ว่าในเมื่อฝ่ายค้านล็อกเป้าซักฟอกถล่ม “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียวก็เอาเวลาไปแค่ 1 วันพอ แล้วลงมติในวันถัดไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้มีเวทีซักฟอกในวันที่ 24 มี.ค.นี้
สุดท้ายเกมพลิกอีกตลบเมื่อมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย ยึกยักไม่กำหนดความชัดเจนในเรื่องวันซักฟอกเสียที พร้อมกระแสข่าวว่ามีการขอให้ “ประธานวันนอร์” แจ้งให้ลบชื่อ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่พรรคฝ่ายค้านใส่ไม่ยั้งว่าครอบงำแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินของ “นายกฯ อิ๊งค์” ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็นบุคคลภายนอก ไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภาได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา “ศิโรจน์ แพทย์พันธุ์” รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่อนหนังสือถึง “เท้ง ณัฐพงษ์” ขอให้นำรายชื่อบุคคลภายนอก ซึ่งหมายถึง “ทักษิณ” ออกจากญัตติ โดยอ้างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ปี 2562 ข้อ 176
ตามด้วย “ประธานวันนอร์” ออกมาขู่ซ้ำว่าหากไม่ลบชื่อ “ทักษิณ” ออกจากญัตติซักฟอก จะไม่บรรจุระเบียบวาระการประชุม เพราะหากมีการพาดพิงบุคคลภายนอก อาจจะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ซึ่งตัวประธานสภาเองจะเป็นคนแรกที่ถูกฟ้อง
ฟากแกนนำพรรคประชาชนเสียงแข็งยืนยันว่าจะไม่แก้ญัตติ โดย “เท้ง ณัฐพงษ์” ระบุว่า เตรียมทำหนังสือโต้แย้งประธานสภา เพราะการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นสิทธิของสมาชิกที่เข้าชื่อครบตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้ประธานมีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจไม่บรรจุญัตติได้ ขณะที่ “รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ซัดแรงว่าประธานสภา รับงานมาปกป้องนายใหญ่ สกัดฝ่ายค้านไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาล ใช้อำนาจไม่สุจริตไม่สมกับเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสภา
ส่วน “ไหม”ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ท้าเปิดโต๊ะเจรจาว่ารัฐบาลจะให้เวลาซักฟอกกี่วัน พร้อมให้ไปถาม “ทักษิณ”ว่าโอเคหรือไม่ที่จะมีชื่อในญัตติ เชื่อว่าอดีตนายกฯ คงเซย์เยส มั่นใจว่าลูกสาวตอบสภาได้แน่ เพราะเป็นเวทีที่ดีที่นายกฯ จะได้แสดงภาวะผู้นำ โดยให้เอาอย่าง “นายกฯ ปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ลุกตอบสภาอย่างสง่าผ่าเผยจบข้อกล่าวหาเรื่องภาวะผู้นำ
ล่าสุดเกมนี้มี “พรรคพลังประชารัฐ” มาเสริมแรง โดย “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ “ประธานวันนอร์” ว่ามีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ ป.ป.ช. มีหนังสือถึงประธานสภาฯ ให้รีบบรรจุญัตติดังกล่าวตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญโดยเร็วด้วย
จากนี้จึงต้องลุ้นว่าเกมการเมืองเรื่องศึกซักฟอกครั้งแรกของ “นายกฯ อิ๊งค์” จะลงเอยอย่างไร.