จากกรณีตรวจพบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกทุเรียนโดยกลุ่มทุนต่างชาติ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด หมู่ 20 บ้านห้วยนา และหมู่ 14 บ้านเขากล้วยไม้ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพบว่าบริษัทเอกชนของคนไทย ได้กว้านซื้อที่ดินชาวบ้าน ใน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 1,500 ไร่ โดยที่ดินเหล่านั้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแควระบมและป่าสียัด ซึ่งบางส่วนอยู่ระหว่างการสำรวจรายชื่อราษฎร เพื่อให้เข้าทำกินอย่างถูกต้อง ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และภายหลังจากเดลินิวส์ได้นำเสนอข่าวต่อเนื่องังพบว่าที่ดินที่จัดสรรให้บางแปลงมีการสวมสิทธิ์ โดยที่เจ้าของชื่อไม่เคยรับรู้หรือยื่นเรื่องขอรับการจัดสรรที่ดิน จาก คทช.แต่อย่างใด
แฉขบวนการสวมสิทธิ ‘ที่ดิน คทช.’ เชื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวแนะส่วนกลางตรวจสอบ
ทีมข่าวพิเศษเดลินิวส์ ยังคงติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเกาะติดสัมภาษณ์พิเศษ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ คทช. และประเด็นปมปัญหาต่างที่สะสมมาโดยตลอดหลาย10 ปี
นายบารมี กล่าวว่า โครงการจัดสรรที่ดิน ของ คทช. ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ ต้องมองย้อนกลับไปว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องที่ดินมาโดยตลอด ทั้งยังมีพื้นที่ทับซ้อน ระหว่าง เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานฯ เขตป่าชายเลน เขตที่ราชพัสดุ ทำให้มีประชาชนบางส่วน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่อาศัยมาดั้งเดิม ประสบปัญหา ไม่มีที่ดินทำกิน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้กฎหมายในฐานะผู้บุกรุก ซึ่งหากย้อนกลับไปดูแล้ว การจัดการที่ดิน หรือมาตรการการจัดการที่ดิน ของ คทช. ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า นโยบายแปลงทรัพย์สินเป็นทุน หากใครจำได้ นโยบายแปลงทรัพย์สินเป็นทุน ก็มีลักษณะการจัดการที่ดินในรูปแบบคล้ายๆ กันนี้ ซึ่งแทบจะไม่มีความแตกต่างอะไรเลย แต่พอมาเปลี่ยนรัฐบาลจากรัฐบาลนายทักษิณ เป็นรัฐบาลสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็นำมาดำเนินการเช่นกัน หรือรัฐบาลสมัยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็นำหลักการเหล่านี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ดิน มีนโยบายการจัดที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ หรือในยุครัฐบาล คสช.เอง ก็ได้นำนโยบายการจัดการปัญหาที่ดิน มาใช้ โดยใช้ชื่อว่า โครงการรัฐเอื้อราษฏร์

จนต่อมาเกิดคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คทช. ขึ้น และมี พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในปี พ.ศ.2562 คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ก็มีหน้าที่ที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินของประเทศ และเสนอ ครม. เพื่อกำหนดมาตรการในการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดินของประเทศ ทั้งยังมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ประเมินผล การใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพที่ดิน ตามศักยภาพของที่ดิน กำหนดมาตรการ หรือแนวทางกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมถึงรูปแบบการใช้ที่ดิน การจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือ รูปแบบในลักษณะอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ทาง คทช.กำหนด โดยความเห็นชอบของ ครม.เพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้ง คทช.ก็ยังมีบทบาทหน้าที่ เรื่องการกำหนดมาตรการ หรือ แนวทางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชนและประชาชน ในการบริหารจัดการที่ดิน เสนอแนะ ครม.ให้มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน เสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาคดี รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการ คทช. อีกประการหนึ่งก็คือ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดิน ที่มีความซ้ำซ้อนหรือมีข้อขัดแย้ง เพื่อเสนอแนะ ครม. ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐและมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการกำหนดแนวเขตที่ดินของรัฐ ติดตามประสานงานสนับสนุนหรือเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการตามกฎหมายอื่น หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดินของประเทศ รวมถึงการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศของที่ดิน เพื่อวางแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ รวบรวมเก็บวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูล

จะเห็นได้ว่านโยบายต่างๆ เหล่านี้ก็กลับมาอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า โครงการจัดการที่ดินชุมชน ตนจึงมองว่า นโยบายการจัดการที่ดินนี้ เป็นนโยบายที่ทำซ้ำกันมาในหลายรัฐบาลแล้ว แค่เปลี่ยนชื่อตามรัฐบาลที่บริหารประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาล ได้ดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ มาโดยตลอด แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ หรือบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย ตนมองว่าเพราะไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรม แต่หลังจากเกิด พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ขึ้นมา จึงมีการดำเนินการของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างจริงจังอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2562 จนถึง ปี พ.ศ.2568 ประมาณ 6 ปี ซึ่งเมื่อมองดูในภาพรวมแล้ว การดำเนินนโยบายหรือ การจัดการที่ดินของ คทช. ก็ยังไม่ได้จริงจัง หรือทำอย่างเต็มที่ หน่วยงานเป็นเพียงการดำเนินการไปแบบขอไปที ให้มองว่า ได้จัดการตามนโยบายแล้ว อย่างที่เคยยกตัวอย่างมา ก็คือ บุคคลใด มี ที่ดินทำกิน อยู่ 50 ไร่ แต่พอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจะได้ แค่ 20 ไร่ ก็จะรู้กันภายในว่า ขึ้นทะเบียนในโครงการ ไว้ 20 ไร่ แต่ อีก 30 ไร่ที่เหลือ ก็แอบๆ ทำกิน ไป

นายบารมี ยังกล่าวว่า บทบาทหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ ของคณะกรรมการ คทช. ในการจัดที่ดิน การแก้ไขปัญหาที่ดิน การจัดที่ดินให้กับประชาชนที่ยากไร้ ที่ไม่มีที่ทำกิน ที่ผ่านมา คทช.เองได้มีการดำเนินการโดยให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย เช่น พื้นที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ก็ให้ทางกรมป่าไม้ดำเนินการ พื้นที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ก็ให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการ พื้นที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุ ก็ให้กรมธนารักษ์ดำเนินการ พื้นที่อยู่ในที่สาธารณประโยชน์ ก็ให้กรมที่ดินดำเนินการ พื้นที่ในเขต สปก. ก็ให้ สปก. ดำเนินการ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีหน้าที่ออกแบบ กำหนดหลักเกณฑ์ ว่าจะจัดที่ดินช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร จากนั้นแต่ละหน่วยงานก็ไปออกแบบ และมาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อให้พิจารณาและเห็นชอบเป็นแผนดำเนินการออกมา จากนั้นก็เสนอต่อ ครม.
นายบารมี มองอีกว่า โครงการจัดการที่ดินทำกินให้กับราษฏร หรือนโยบายการจัดการที่ดิน การแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ดีๆ ที่ให้กับประชาชน ที่ผ่านมา ยังไม่มีโครงการฯ ใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้แบบจริงจัง ตนเห็นว่า นโยบายหลักๆ หรือ หลักการสำคัญของนโยบายในการจัดการที่ดิน ก็คือต้องการที่จะอพยพคนออกจากที่ดินของรัฐ จัดที่ให้อยู่ใหม่ ไม่ว่าจะเรียกโครงการนั้นๆ ว่าอย่างไร เช่น โครงการหมู่บ้านป่าไม้ โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของกรมป่าไม้ โดยสมัยก่อนยังไม่มีการแยกออกมาเป็นกรมอุทยานฯ มีหลายพื้นที่ เช่น ทางภาคเหนือ ที่อพยพชาวบ้านออกมา แล้วก็จัดที่ทำกินให้ใหม่ แล้วสุดท้ายก็ทำกินไม่ได้ หรือว่าในช่วงปี พ.ศ. 2535 สมัยรัฐบาลนายอานันต์ ปัญญารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีโครงการชื่อ โครงการจัดสรรที่ทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าเสื่อมโทรม หรือเรียกว่า โครงการ คจก. ก็ไปอพยพชาวบ้าน จนชาวบ้านเออกมาคัดค้าน ปิดถนนที่ อ.ปากช่อง จนทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการไป แต่รัฐบาล หรือ ข้าราชการเอง โดยเฉพาะกรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่จัดการที่ดินต่างๆ ก็ไม่เคยคิดที่จะหยุด หรือยุติโครงการต่างๆ เหล่านี้ ยังมีความพยายามหาทางที่จะจัดการชาวบ้านโดยเฉพาะยิ่ง ที่ผ่านมามีนโยบาย ของธนาคารโลก โดยจะไม่จัดที่ทำกินให้กับราษฎรแบบให้กรรมสิทธิ์ต่อไป จะให้แค่สิทธิที่อยู่อาศัยเป็นแบบแปลงรวม รัฐบาลไทยก็รับมาพิจารณา โดยเฉพาะสภาพัฒน์ ที่พยายามขับเคลื่อนผลักดัน หากมีการจัดที่ดินให้กับชาวบ้านก็จะจัดที่ดินให้ในลักษณะเป็นแปลงรวม ไม่จัดให้เป็นรายบุคคล และก็ไม่ให้กรรมสิทธิ์

นายบารมี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการจัดที่ดินแบบ คทช. จึงเป็นเรื่องเก่าที่เอามาเล่าใหม่ เอามาทำใหม่ ตนมองว่าเรื่องการทุจริตก็กลายเป็นเรื่องไม่ผิดปกติ เป็นเรื่องปกติ เจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าจะทำอย่างไร ประชาชนก็รู้ว่าจะทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไรบ้าง เช่น มีวิธีการอย่างไรที่จะหาบุคคลมาลงชื่อในแปลงจัดสรร จะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ วิธีการต่างๆเหล่านี้ มีการทำกันมานานแล้ว ตนมองว่าหากช่วยกันขุดคุ้ย จะยิ่งสาวลึก ไปถึงขบวนการต้นตอของการทุจริตมากขึ้น เช่นล่าสุดที่ทางเดลินิวส์ได้นำเสนอ กรณีบุคคลจาก จังหวัดหนึ่ง ถูกเอาชื่อไปขึ้นทะเบียนอีกจังหวัดหนึ่งนั้น ตนเชื่อว่า หากพยายามขุดให้ลึก ต้องเจอ ตอ อย่างแน่นอน จะต้องมีผู้กว้างขวาง หรือผู้มีบารมี ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฎิติงานในพื้นที่ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง หรือ เข้าไปดำเนินการใดๆ ตนเชื่อว่า พื้นที่ลักษณะดังกล่าวมีอยู่หลายพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่ไม่ได้เป็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่แค่ในระดับปฎิบัติงาน แต่ ตนมองว่า บางพื้นที่เป็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง หรือ กลุ่มบุคคลผู้กว้างขวางมีบารมี
ตนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จะมีการตรวจสอบการทุจริต หรือดำเนินการอย่างไรได้บ้าง นั้น ลำดับแรก จำเป็นต้องนำเอารายชื่อผู้ที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรที่ดินให้ ตามนโยบายของ คทช. ว่ามีใครบ้าง ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละจังหวัด และดำเนินการให้โปร่งใส โดยนำรายชื่อทั้งหมด ตั้งแต่มีการยื่นขอใช้พื้นที่ จนเหลือรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาต จาก คทช. ประกาศขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมตรวจสอบได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ นำมาประกาศให้เห็นเลยว่าใครเป็นคนได้รับสิทธิ์และคนได้รับสิทธิ์เข้าเงื่อนไขตามระเบียยหรือไม่ มีขบวนการนายหน้าที่นำพาชาวบ้านไปยื่นเรื่องขอรับสิทธิ์ในการจัดสรรที่ดินหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความโปร่งใสให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างดี ส่วนเรื่องการที่จะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ พื้นที่ต่างๆ ของ คทช. ที่มีการเปลี่ยนมือ หรือ ทำผิดวัตถุประสงค์ นั้น ตนมองว่า บางกรณีอาจต้องใช้หน่วยงาน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการ หรือการจัดสรรที่ดิน เข้ามาตรวจสอบ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หาก เป็นขบวนการทุจริต ที่ร่วมกันระหว่าง นายทุน ข้าราชการ และผู้มีอิทธิพล เพื่อรับเป็นคดีพิเศษ ก็เป็นได้ นายบารมี กล่าวทิ้งท้าย.