จากกรณีวันที่ 7 มี.ค. เกิดเหตุการณ์การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีต ผกก.โจ้ ผู้ต้องขังเรือนจำกลางคลองเปรม ในคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.64 ตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ต้องจำมาแล้วในเรือนจำ 3 ปี 6 เดือน 13 วัน โดยรับตัวเข้าคุมขังเมื่อวันที่ 3 ก.ย.64 ปัจจุบันถูกคุมขังที่ห้องแยกการควบคุม แดน 5 ก่อนก่อเหตุใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กผูกคอกับประตูห้องขังจนเสียชีวิตเมื่อช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันที่ 7 มี.ค. ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

คืบหน้าล่าสุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้สั่งการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริงกรณีการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เร่งตรวจสอบการเสียชีวิตของผู้กำกับโจ้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เนื่องด้วย นายวีรศักดิ์ นาคิน ทนายความอดีต ผกก.โจ้ ได้เคยรับมอบอำนาจจาก พ.ต.อ.ธิติสรรค์ แจ้งความร้องทุกข์เมื่อเดือน ม.ค. 68 กรณีถูกผู้คุมเรือนจำกลางคลองเปรม ด่าทอแล้วชกต่อย บาดเจ็บมีรอยฟกช้ำขนาดใหญ่ที่ทรวงอก

ทนายความของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ยังได้เปิดเผยว่า ก่อนที่ลูกความจะเสียชีวิต ญาติของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ได้เข้าไปเยี่ยมเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (7 มี.ค.68) ซึ่งเหตุการณ์ปกติ และ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ กล่าวว่า ต้องเข้าไปสอบสวนวินัยหลังเวลา 15.00 น. เพราะมีความผิดกระด้างกระเดื่อง ก่อนที่จะเกิดเหตุเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งติดใจในประเด็นว่าเกิดจากอะไร โดยได้แจ้งความที่ สน.ประชาชื่น และขออายัดศพเพื่อไปชันสูตรที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี

สำหรับเรื่องนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริงกรณีการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่เพื่อติดตามตรวจสอบข้อมูลกรณีผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย และให้นำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองเกี่ยวกับการกระทำทรมาน ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เป็นกรณีเร่งด่วนต่อไป.