การส่งเสริมพลังสตรี นอกจากจะได้แรงสนับสนุนจากภายนอกแล้ว คุณผู้หญิงทั้งหลายจำเป็นต้องเสริมสร้างพลังจากภายในด้วยการมีร่างกายที่แข็งแรง
“โรงพยาบาลกรุงเทพ” บอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของสาวๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประจำเดือน แม้บางคนอาจมีอาการปวดท้องน้อยขณะมีระดู แต่หากพบว่ามีอาการปวดมากขึ้น เวลานอนหรือนั่งในบางท่า อย่านิ่งนอนใจ เพราะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าอาจมีโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
1.โรคเนื้องอกมดลูก
เป็นโรคพบบ่อยที่สุดของผู้หญิง เซลล์กล้ามเนื้อบางตำแหน่งแบ่งตัวและเจริญจนเป็นก้อนแทรกในชั้นกล้ามเนื้อ เรายังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้ แต่พันธุกรรมน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ไม่ใช่โรคร้าย แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงได้ ซึ่งอาการของโรคนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอก โดยผู้หญิงจะรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายจากภาวะซีด
@ ถ้าเกิดที่เนื้องอกที่อยู่ใต้เยื่อบุโพรงมดลูก จะทำให้ระดูออกมากและมีระดูหลายวัน
@ เนื้องอกที่อยู่ด้านหน้าใต้กระเพาะปัสสาวะ จะกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย บางรายอาจมีอาการปัสสาวะลำบาก
@ เนื้องอกที่อยู่ด้านหลัง จะกดลำไส้ใหญ่จนเกิดอาการท้องผูก
เนื้องอกที่ขยายไปทางด้านข้าง อาจจะไปกดท่อไตมีผลทำให้การทำงานของไตเสียได้
เนื้องอกที่ด้านบนของมดลูก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการและตรวจพบเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่มากแล้ว

2.ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และช็อกโกแลตซีสต์
เกิดจากการไหลย้อนกลับของประจำเดือนเข้าไปในอุ้งเชิงกรานผ่านท่อนำไข่ และฝังตัวในโพรงมดลูกหรือฝังตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งบริเวณที่พบบ่อยคืออุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิด จะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานต่อมาเกิดถุงน้ำเล็กๆ ที่มีของเหลวเหมือนช็อกโกแลต ค่อยๆ เบียดเนื้อรังไข่ และขยายใหญ่จนเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ขึ้นเป็น “ช็อกโกแลตซีสต์”
โรคเหล่านี้ทำให้เกิดอาการปวดระดูมาก เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดเรื้อรังที่มีอาการปวดทุกวันเป็นเวลานาน ถ้าโรคกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ จะส่งผลให้เกิดอาการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด บางรายอาจมีอาการของลำไส้แปรปรวนได้ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงจำนวนมากที่มีโรคดังกล่าว จะมีภาวะมีบุตรยากด้วย
3.ถุงน้ำหรือซีสต์ที่รังไข่
ถุงน้ำที่รังไข่เป็นถุงน้ำที่เกิดจากเซลล์ในรังไข่ ถุงน้ำรังไข่แบบนี้พบได้ 2 ชนิด คือ 1) ถุงน้ำที่เกิดจากเซลล์ผิวของรังไข่ (Epithelial Cell) 2) ถุงน้ำที่เกิดจากเซลล์ผิวหนัง (Dermoid Cyst)
โดยทั่วไปในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่ถุงน้ำจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น เมื่อถุงน้ำใหญ่ขึ้นจนแกว่งตัวได้ ก็มีโอกาสบิดขั้วที่รังไข่ของคุณผู้หญิงได้ จะเกิดอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ในระยะแรกจะปวดเป็นพัก ๆ และอาการปวดหายไปได้ ถ้าการบิดขั้วหมุนกลับไปสู่ตำแหน่งปกติ แต่อาการปวดจะรุนแรงขึ้นจนกระทั่งปวดไปทั่วท้อง เมื่อการบิดขั้วรุนแรงมาก จนทำให้รังไข่คั่งเลือด ในระยะนี้จะทำให้ปวดมากจนทนอาการปวดไม่ไหว ต้องมาพบแพทย์แบบฉุกเฉิน

4.โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
เป็นโรคที่มีเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก ซึ่งคล้ายกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญในอุ้งเชิงกราน ทั้งนี้ เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญและสลายตามรอบระดู ขณะมีระดูเซลล์เหล่านี้จะสลายเกิดการอักเสบในชั้นกล้ามเนื้อ กระตุ้นให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดระดู หลังหมดระดูเกิดพังผืดในบริเวณชั้นกล้ามเนื้อนี้
ภาวะนี้เกิดซ้ำๆ ในแต่ละรอบระดู ทำให้มดลูกใหญ่ขึ้นเป็นรูปทรงกลม และอาการจะรุนแรงขึ้นได้ นอกจากจะทำให้เกิดอาการปวดระดูแล้ว จะมีระดูมามากด้วย สำหรับในรายที่รุนแรงจะมีอาการปวดเรื้อรัง ปวดหน่วง หรืออาการปวดคล้ายปวดระดูเกือบทุกวัน
แม้ทั้ง 4 โรคเหล่านี้ไม่ใช่โรคมะเร็ง แต่สามารถก่อให้เกิดอาการที่มีผลต่อสุขภาพในระดับต่างๆ ขณะที่บางรายอาจไม่มีอาการ แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดต่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างมากได้ในภายหลัง
ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเพียงข้อหนึ่งข้อใด ควรพบสูติ-นรีแพทย์ หรือแม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ควรตรวจสุขภาพทุกปี และด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการตรวจภายใน ในการตรวจหาภาวะหรือโรคดังกล่าว

แนวทางรักษาโรค
แนวทางการรักษาโรคทั้ง 4 นี้จะใช้การผ่าตัดรักษา อาทิ การเลาะถุงน้ำ การเลาะเนื้องอกมดลูก การตัดรังไข่ และการตัดมดลูก โดยการผ่าตัดแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของโรค อายุของคุณผู้หญิงและความต้องการการมีบุตรในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้หญิงที่มีอายุพอสมควร (วัย 40 ปีหรือกว่านั้น) เป็นเนื้องอกมดลูก การตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดที่เหมาะสม แต่ถ้าอายุยังน้อย (30 กว่าปีหรือน้อยกว่า) ต้องการมีบุตรในอนาคต แต่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ การผ่าตัดที่เหมาะสมคือ การเลาะถุงน้ำ เป็นต้น
การผ่าตัดในปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งเจ็บปวดน้อยมากระหว่างและหลังการผ่าตัด นอนโรงพยาบาลสั้น และฟื้นตัวไปทำงานได้ภายใน 1 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปทำงานได้