น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปาฐกถาเนื่องในโอกาสวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 60 ประเทศทั่วโลก และ 1 ใน 10 ประเทศเอเชียที่เคยมีผู้นำสูงสุดของประเทศเป็นผู้หญิง และประเทศไทยยังมีสัดส่วนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เป็นผู้หญิงสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งสะท้อนว่าสังคมไทยให้พื้นที่กับผู้หญิงอย่างเท่าเทียม

“ดิฉันเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำได้ ในทุกเวที ทุกระดับ สามารถเป็นทุกอาชีพ สามารถทำตามความฝันที่ตัวเองต้องการ และสามารถรับทุกโอกาสได้อย่างเท่าเทียม รัฐบาลจะผลักดันนโยบายความเสมอภาคทางเพศอย่างเต็มความสามารถ ทั้งในระดับครอบครัวสถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ ทั้งการแก้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ การขจัดความรุนแรงในครอบครัวรวมถึงการพัฒนานโยบายที่เอื้อต่อการทำงานของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการขยายวันลาหลังคลอด การทำให้ผู้ปกครองเข้าถึงสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ”นายกฯอิ๊งค์ กล่าว

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ส่งให้ “หัวหน้าเท้ง”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ( ปชน.) ผู้นำฝ่ายค้าน ไปแก้ญัตติตัดชื่อ “อดีตนายกฯแม้ว”นายทักษิณ ชินวัตร ออกไป เนื่องจากไม่ต้องการให้พาดพิงบุคคลภายนอก และจะมีปัญหาการประท้วงหรือการฟ้องร้อง

“สส.ใบพลู”รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า การที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สั่งให้ฝ่ายค้านแก้ญัตติเอาชื่ออดีตนายกฯแม้วออก คือ การใช้อำนาจเอื้อพวกพ้อง และหวังสกัดฝ่ายค้านไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดของสภาฯ ที่ห้ามการเอ่ยถึงบุคคลภายนอก มีข้อความแค่ ห้ามเอ่ยถึงชื่อบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

“ในกรณีนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า นายทักษิณเป็นที่สงสัยว่า เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง ทิศทางของประเทศหลายเรื่อง เราได้ยินจากปากอดีตนายกฯ การห้ามฝ่ายค้านเขียนญัตติโดยระบุชื่อนายทักษิณ ไม่ต่างอะไรกับการที่ประธานสภาฯ ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายค้านให้ทำหน้าที่อย่างไม่เต็มที่ ประธานสภาฯ รับงานมาและปกป้องนายใหญ่ จึงทำให้ทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดไม่ให้ฝ่ายค้านสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่”

สส.ใบพลู ยังตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือที่ส่งมา ขัดแย้งต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 176 หากพบว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมีความบกพร่อง จะต้องแจ้งต่อผู้เสนอภายใน 7 วัน ปรากฏว่าการแจ้งของประธานสภา กลับเกินกำหนดไปแล้ว ยิ่งตอกย้ำว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สุจริต เพื่อหวังปกป้องบุคคลที่ตัวเองรับใช้เท่านั้น การเสนอญัตติที่มีการระบุชื่อบุคคลภายนอก ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำกันมาโดยตลอด ประธานสภาทำตัวเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลชัดเจนไม่มีความเหมาะสมของการเป็นประธานจริงๆ นี่จะหนีการตรวจสอบของสภา ด้วยวิธีนี้จริงๆหรือ

“ไหม”ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ปชน.ให้สัมภาษณ์ว่า สภาไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงให้แก้ไขญัตติ ถ้าจำเป็นที่จะต้องใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์ การบริหารราชการของนายกฯ ก็ต้องเขียน ส่วนจะถูกบุคคลที่ 3 ฟ้องร้อง เราก็เคยผ่านมาแล้ว เป็นกลไกปกติที่เกิดขึ้นได้ เราทราบดีว่า เราไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองหากพูดพาดพิงบุคคลที่สาม ยืนยันว่า เราไม่แก้ญัตติ และให้ผู้นำฝ่ายค้านส่งหนังสือแจ้งไปยังประธานสภา

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติที่เขียนมุ่งหมายไปที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายก ฯ ว่าปล่อยปละละเลย ปล่อยให้รัฐมนตรีกระทำไม่ถูกไม่ชอบอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็อธิบายถึงการกระทำของรัฐมนตรีจะมีปัญหา ถ้าอภิปรายเกริ่นนำนายก ฯ สัก 5-10 นาที ที่เหลือรัฐมนตรีล้วน ๆ จะมีการประท้วงว่าญัตติไม่ได้อภิปรายรัฐมนตรี สมัยเป็นฝ่ายค้านจำได้ว่าเขียนญัตติให้ครอบคลุมทั้งนายกฯ และรัฐมนตรี

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่หนึ่ง กล่าวว่า เมื่อชื่อคนนอกอยู่ในญัตติการควบคุมการประชุมจะยากและวุ่นวายไม่จบ และหากเกิดความเสียหายกับบุคคลภายนอก หากมีการฟ้องร้องก็ต้องถูกฟ้องทั้งหมดตั้งแต่คนบรรจุวาระ คนอนุญาต จะกลายเป็นว่า ไม่เป็นงานบ้านเมือง กลายเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่าหรือไม่ หากเอาเรื่องคอร์รัปชั่นการบริหารมาอภิปรายดีกว่าหรือไม่ ดีกว่าเอาเรื่องครอบครัวมาพูด และสิ่งที่เราต้องการคือไม่อยากให้เกิดความไม่เรียบร้อย หากฝ่ายค้านบอกจะไม่แก้ไขญัตติก็ต้องหารือกัน

“ไม่ได้กังวลการประท้วงจนอภิปรายไม่ได้ เราผ่านศึกแบบนี้กันมาหลายครั้ง ประท้วงจนไม่ได้พูดก็เคยมาแล้ว ดังนั้นเราก็จะมีทีมที่จะโต้ฝ่ายที่ประท้วงด้วยเช่นเดียวกัน หรือถ้าไม่สามารถที่จะพูดได้จริงๆ ก็ไปพูดข้างนอกห้องประชุม ก็มีอีกหลายแนวทางที่เราสามารถจะรับมือกับเรื่องนี้ได้” นายพิเชษฐ์ กล่าว

สำหรับปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดน ระหว่างไทย-กัมพูชา “เสธ.หนึ่ง”พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มมีความประสงค์ต้องการจัดกิจกรรมบนพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม ในวันที่ 9 มี.ค. 2568 ว่า พื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา เป็นเขตอ่อนไหวที่ต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง ขอความร่วมมือให้ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ งดเว้นการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์บริเวณพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ และพื้นที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ประชาชนยังสามารถเดินทาง ค้าขาย และท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในพื้นที่

รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน ผ่านการเจรจาและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความสงบสุขที่ยั่งยืน จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมจะใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ครั้งที่ 17 ในการเจรจาหารือพูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกัน ในวันที่ 21 มี.ค. 2568 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ริเวอร์ไซด์ กทม.

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการเสียงจากใจไทยคู่ฟ้าตอนหนึ่ง กรณีการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมภาคใต้ว่า ธนาคารออมสินจะโอนเงินเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาทให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยเริ่มวันที่ 12 มี.ค. ส่วนในวันที่ 10 มี.ค.นี้ นายกฯ จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการในโครงการเงิน 10,000 ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ในเวลา 11.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงความชัดเจนในการจ่ายเงินดิจิทัลฯ กลุ่มเฟส 3

“ทีมข่าวการเมือง”