เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า การที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา สั่งให้ฝ่ายค้านแก้ญัตติเอาชื่อนายทักษิณ ชินวัตร ออก คือ การใช้อำนาจเอื้อพวกพ้อง และหวังสกัดฝ่ายค้าน ไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาล เป็นการใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประการแรก ในเรื่องของการเขียนญัตติ ไม่ว่าจะเป็นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือญัตติอื่นทั่วๆ ไป ไม่มีกฎหมาย หรือ ข้อบังคับใดของสภา ที่ห้ามการเอ่ยถึงบุคคลภายนอก การเอ่ยถึงบุคคลภายนอกทำได้ โดยที่ข้อบังคับของสภา ระบุเพียงว่า ห้ามเอ่ยถึงชื่อบุคคลใด โดยไม่จำเป็น ซึ่งในกรณีนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า นายทักษิณ เป็นที่สงสัยว่า เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง ทิศทางของประเทศหลายเรื่อง เราได้ยินจากปาก อดีตนายกฯ ไม่ใช่จากนายกฯ วันนี้คนรอฟังจากนายกฯ ผู้พ่อ ไม่ใช่ผู้ลูก ดังนั้น ถ้าห้ามฝ่ายค้านเขียนญัตติโดยระบุชื่อนายทักษิณ ไม่ต่างอะไรกับการที่ประธานสภา ใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายค้านให้ทำหน้าที่อย่างไม่เต็มที่

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ประการที่สอง การที่ประธานสภา ให้รองเลขาธิการสภา รักษาการแทนเลขาธิการสภา ทำหนังสือถึงฝ่ายค้านโดยอ้างว่าญัตติของฝ่ายค้าน มีความบกพร่องนั้น เป็นการทำหน้าที่และใช้อำนาจไม่ถูกต้อง เพราะความบกพร่องในที่นี้ ต้องมีลักษณะเป็นความบกพร่องในรูปแบบหรือมีฐานทางกฎหมายไม่ครบถ้วนในการที่จะเสนอญัตติได้ เช่น จำนวนผู้ลงชื่อเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจมีไม่ครบ ขาดตกบกพร่อง หรือลายเซ็นผิดพลาด ลักษณะแบบนี้มันถึงจะเข้าเกณฑ์ว่าเป็นความบกพร่อง การใช้อำนาจมั่วซั่ว โดยถือว่า การระบุชื่อบุคคลภายนอกเป็นความบกพร่องนั้น เป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตไปมาก เชื่อว่าเจ้าหน้าที่สภา รู้ดีว่าการใช้อำนาจแบบนี้เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ แต่คงจะถูกกดดันหรือถูกสั่งให้ทำแบบนี้ เนื่องจากประธานสภา รับงานมาและปกป้องนายใหญ่ จึงทำให้ทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดไม่ให้ฝ่ายค้านสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ประการที่สาม การใช้อำนาจของประธานสภา ยังเลวร้ายไปอีก เมื่อพบว่าการทำหนังสือแจ้งดังกล่าวมาที่ฝ่ายค้าน กลับพบว่าขัดแย้งต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 176 หากพบว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีความบกพร่องจะต้องแจ้งต่อผู้เสนอภายใน 7 วัน ปรากฏว่าการแจ้งของประธานสภา กลับเกินกำหนดไปแล้ว ยิ่งตอกย้ำว่าการใช้อำนาจนี้เป็นการใช้อำนาจที่ไม่สุจริต เพื่อหวังปกป้องบุคคลที่ตัวเองรับใช้เท่านั้น ประการสุดท้าย การเสนอญัตติที่มีการระบุชื่อบุคคลภายนอก ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ทำกันมาโดยตลอด มีหลากหลายญัตติที่มีการเอ่ยชื่อถึงบุคคลภายนอก ยอมรับกันมาตรงๆ ว่าปัญหาของเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องความบกพร่องอะไร เพียงแต่คงจะมีบางคนไม่พอใจที่ฝ่ายค้านเอ่ยชื่อแบบนี้ใช่หรือไม่ 

“เราควรจะเห็นการทำหน้าที่ของผู้อาวุโส ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ควรทำหน้าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสภา ยึดถือกฎเกณฑ์เป็นที่ตั้ง วางตัวเป็นกลางให้สมกับบทบาทของประธานสภา แต่นี่มิใช่เลย กลับทำตัวเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลชัดเจน ไม่มีความเหมาะสมของการเป็นประธานจริงๆ นี่จะหนีการตรวจสอบของสภา ด้วยวิธีนี้จริงๆ หรือ” นายรังสิมันต์ ระบุ.