เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พญ.ชนิดา สยุมภูรุจินันท์ ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวภายหลัง กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพร กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแหล่งปลูกสมุนไพรพื้นที่เขตอนุรักษ์ เพื่อนำมาใช้ในระบบสุขภาพและเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพแบบองค์รวม (Wellness) ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ตั้งเป้าเพิ่มสั่งใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท ในปี 2569 ว่า อภัยภูเบศรให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัตถุดิบที่นำมาพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ต้องผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของนานาชาติ คือ มาตรฐาน IFOAM (International Federation of Organic Movement) มีการตรวจรับรองว่าวัตถุดิบต้องปลอดจากสารเคมีตกค้าง ไม่ใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงสังเคราะห์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความยั่งยืนทางการเกษตร และวัตถุดิบที่เก็บเกี่ยวต้องมีสารสำคัญทางยาตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเราส่งเจ้าหน้าที่เกษตรอินทรีย์ลงไปทำงาน สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและอุทยานแห่งชาติ

ด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า อภัยภูเบศร ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำการพัฒนาสมุนไพรไทย มาตรฐานสากล สร้างโมเดลชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า มากว่า 20 ปี ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายระบบนิเวศและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เก็บเกี่ยวในปริมาณที่เหมาะสมของทรัพยากรในพื้นที่ ส่งเสริมการปลูกทดแทนโดยใช้สายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ เก็บเกี่ยวแบบเลือกสรร ใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายรากหรือโครงสร้างของพืช ซึ่งทำให้อภัยภูเบศรมีวัตถุดิบสมุนไพรจากป่าใช้ในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่เป็นสากล ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ได้ยกกรณีความร่วมมือกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในผืนป่าตะวันตก จ.ตาก จนเกิดเป็นโมเดล “ปลูกสมุนไพร ต่อลมหายใจผืนป่า” หนุนส่งเสริมอาชีพชุมชน จนชาวบ้านมีรายได้ต่อปีจากการปลูกขมิ้นชันในเขตป่าอนุรักษ์ กว่า 4 ล้านบาทและในพื้นที่โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านปางมะขามป้อม จ.เชียงราย ชาวบ้านเก็บมะขามป้อมจากป่ามูลค่ากว่า 14 ล้านบาท รวมทั้งพืชสมุนไพรอื่นๆ รวมเกือบ 20 ล้านบาท โดยมูลนิธิฯ มีสัญญารับซื้อที่ชัดเจน มีการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การเก็บผลผลิตจากป่า ห้ามตัดหรือโค่นต้น ซึ่งแม้จะส่งผลให้ต้นทุนยาสูงขึ้น แต่เราก็คาดหวังว่าคุณภาพยาที่ดีจะทำให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง และเกิดการพัฒนาด้านสมุนไพรที่ยั่งยืน เมื่อป่ากินได้ ใครก็หวงแหน เพราะป่าเป็นรากฐานเศรษฐกิจชุมชน

ด้าน นายกิตติพงษ์ พรมจักร์ หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านปางมะขามป้อม กล่าวเสริมว่า เมื่อก่อนชาวบ้านปลูกข้าวโพดรายได้น้อย ก็ต้องถางป่าเพื่อทำไร่เพิ่ม แต่ปัจจุบันชาวบ้านเก็บมะขามป้อม มีรายได้เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะไม่บุกรุกป่าแล้ว ยังช่วยดูแลไม่ให้เกิดปัญหาไฟป่า ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และปลูกป่าเพิ่มทุกปี เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ และนอกจากมะขามป้อมแล้ว ป่ายังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น มะแขว่น รางจืด กระชายป่า สมอพิเภก นายกิตติพงษ์ กล่าว
ด้าน นายยุทธนา เพ็ชรนิล เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ประสานงานโครงการ “ปลูกสมุนไพร ต่อลมหายใจผืนป่า” ในพื้นที่ป่าตะวันตก กล่าวว่า ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ มีข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามมาตรา 64 ซึ่งมีข้อจำกัดมาก การส่งเสริมอาชีพสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ จะเป็นทางออกในการบริหารจัดการที่ดินของชุมชน ซึ่งตอบโจทย์ในทุกมิติ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และขอฝากประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ภาครัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการสนับสนุนวัตถุดิบสมุนไพรที่ผลิตภายในประเทศโดยเกษตรกรไทย โดยเฉพาะวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนที่ชัดเจน.