เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยรับผลกระทบคลินิกบัตรทองไม่ส่งตัว อ้างรับเงินเหมาจ่ายรายหัวจาก สปสช. เพียง 10 บาทต่อคน ว่า ตัวเลขเหมาจ่ายไม่เป็นความจริง ตามที่เคยให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าคลินิกที่มีปัญหาและออกหนังสือแจ้งผู้ป่วยตามที่มีการแชร์กันในสังคมออนไลน์นั้น มีจำนวน 20 คลินิก ซึ่งได้รับการประสานจาก สปสช. แล้วว่า ต้องดำเนินการตามสัญญา เนื่องจากก่อนคลินิกจะเข้าร่วมกับ สปสช. ต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อตกลงกันก่อน ซึ่งในสัญญาระบุชัดเจนว่า ต้องให้บริการผู้ป่วยตามความจำเป็น ดังนั้น หากมีผู้ป่วยที่รักษาได้ต้องรักษา แต่หากจำเป็นต้องส่งต่อ ก็ต้องดำเนินการตามความจำเป็นเช่นกัน
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า สปสช. ได้ทำความเข้าใจกับ 20 คลินิกแล้ว และจะมีมาตรการสุ่มเยี่ยมการบริการคลินิกเป้าหมาย จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งข้อมูลล่าสุดปัจจุบันมีหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น ใน กทม. 321 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขจำนวน 69 แห่ง ที่เหลือคือคลินิกชุมชนอบอุ่น 237 แห่ง โดยมี 20 แห่งที่มีปัญหา
“ดังนั้น เมื่อเราหารือไปแล้ว แต่หากคลินิก 20 แห่งยังไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้ผู้ป่วยหรือญาติโทรฯ แจ้งเข้ามาที่สายด่วน 1330 เราจะมีกระบวนการในการบริหารสัญญาให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบอีก เพราะหากเกิดกรณีใดที่คลินิกปฏิเสธคนไข้ ก็ถือว่าไม่ทำตามสัญญาแล้ว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า สปสช. จะเร่งบริหารจัดการคลินิกที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจนกระทบการบริการผู้ป่วยอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มี.ค. สปสช. ได้ออกมาเผยถึงข้อมูลตัวเลขงบประมาณ ปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2567-6 มี.ค. 2568 สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณให้คลินิกชุมชนอบอุ่น 237 แห่ง ที่ดูแลประชากร 1,973,723 คน ไปแล้ว 551.36 ล้านบาท คิดเป็น 279.35 บาทต่อประชากร
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่าง คลินิก A ดูแลประชากร 7,343 คน ในปีงบประมาณ 2568 ได้รับงบประมาณจาก สปสช. ไปแล้ว 6,608,254.80 บาท คิดเป็น 900 บาทต่อประชากร ประกอบด้วย กองทุนผู้ป่วยนอก 1,594,389.68 บาท, กองทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 4,789,832 บาท, กองทุน Central Reimburse 218,884.27 บาท และค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 5,148 บาท.