เมื่อเวลา 08.55 น. วันที่ 7 มี.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในฉลองพระองค์ชุดนักบิน เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปทอดพระเนตรการแสดงการบิน เนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 กองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลอากาศเอก เสกสรร คันธา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ประธานจัดงานการแสดงการบินเนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการทหารอากาศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประทับหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศเอก คิดควร สดับ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ และนางวริสรา สดับ ภริยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว ผู้บัญชาการทหารอากาศ กราบบังคมทูลรายงานการจัดการแสดงการบินเนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 3FC48EFE-99D8-45A7-9499-BC56A43807BB-1280x866.jpeg

จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงการบิน ชุดที่ 1 ประกอบด้วย “การบินฟอร์เมชัน ดิสเพลย์ วิธ เนชันแนล คัลเลอร์ส สโมค” (Formation Display with National Colors Smoke) โดยเครื่องบิน AU-23, T-50TH และเครื่องบิน F-16MLU จากกองทัพอากาศไทย “การบินกริพเพน เดโม” (Gripen Demo) จากกองทัพอากาศไทย “การบินออกัสท์ เฟิร์ธ” (August 1ST) โดยเครื่องบิน J-10C จากกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน และ “การบินเอฟ-35เอ เดโม” (F-35A Demo) จากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 25C1D8FF-7BC8-46E1-B726-0A9FBEECB132-1280x881.jpeg

ภายหลังจบการแสดงการบินชุดที่ 1 แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเข้าภายในอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ และภริยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการและวีดิทัศน์ภารกิจเครื่องบิน “กริพเพน” (Gripen) บินลงจอดบนถนนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งทำการวิ่งขึ้นจากสนามบินหาดใหญ่บินไปตามจุดที่กำหนดเพื่อทำการลงสนามแบบ Straight in approach โดยในเที่ยวแรกได้ทำ Low approach เพื่อทำความคุ้นเคยและในเที่ยวบินที่ 2 จึงทำการลงสนามจริง

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ BA29A405-47E4-4711-8B95-8F2E4CCC4266-1280x853.jpeg

นิทรรศการพระมหากษัตริย์นักบินแห่งราชวงศ์จักรี ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัย และทรงพระปรีชาสามารถด้านการบินทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเชี่ยวชาญ หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาทางการทหารเมื่อพุทธศักราช 2522 ทรงเริ่มเข้ารับการฝึกบินหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) ของกองทัพบก เมื่อพุทธศักราช 2523 และทรงฝึกบินหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศ ทรงสำเร็จตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2523 และได้ทรงบินเฮลิคอปเตอร์ด้วยพระองค์เอง เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2523 ซึ่งปัจจุบันคือโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และทรงรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นความภูมิใจของกำลังพลของกองทัพอากาศ และพสกนิกรชาวไทยที่ได้มีพระมหากษัตริย์นักบิน เป็นมิ่งขวัญของแผ่นดิน

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 2ADA17CA-3295-427D-B45D-B374BA37554F-1280x848.jpeg

ด้วยพระราชปณิธานในการเป็นนักบิน ทรงเข้ารับการถวายการฝึกบินกับอากาศยานปีกตรึงโดยกองทัพอากาศ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาเทคนิคการบินจากฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ฐานทัพอากาศเล็คแลนด์ เมืองแซนเอนโทนิโอ รัฐเท็กซัส ทรงจบหลักสูตรการบินขับไล่ไอพ่น ยุทธวิธีขั้นพื้นฐานจากฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 425 ฐานบินวิลเลียมส์ รัฐแอริโซนา ทรงเข้าศึกษาฝึกบินกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ เอฟ-5อี (F-5E) ในหลักสูตรการบินขับไล่ไอพ่นทางยุทธวิธีชั้นสูง ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ กับทรงศึกษาหลักสูตรทางทหารเพิ่มเติม เช่น

หลักสูตรต้นหนชั้นสูง การลาดตระเวน หลักสูตรส่งทางอากาศ หลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช-1เอช (UH-1H) ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ณ ฟอร์ท แบรกก์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา และหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธแบบเอเอช-1เอส คอบรา (AH-1S COBRA) ทรงฝึกฝนการบินอย่างสม่ำเสมอ และยังได้ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธีของกองทัพอากาศที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

โดยทรงเข้าร่วมแข่งขันระหว่างพุทธศักราช 2526 ถึง 2530 ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักบินขับไล่ไอพ่นพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศได้เกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานปีกหมุน อากาศยานปีกตรึงแบบใบพัด และเครื่องยนต์ไอพ่น และด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นนักบินขับไล่ที่มีชั่วโมงบินต่อเนื่องมากกว่า 2,800 ชั่วโมงบิน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับนักบินขับไล่ทั่วโลกที่จะทำได้ และด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ที่ทรงมี ปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน พระราชทานการฝึกสอนทั้งวิชาการภาคพื้นและการฝึกบินให้แก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ แสดงถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยพัฒนาและยกระดับการบินของชาติให้ทัดเทียมนานาประเทศ

ทรงอุปถัมภ์งานด้านการบินอย่างต่อเนื่อง นับเป็นคุณูปการแก่กองทัพอากาศไทย และกิจการการบินของประเทศเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการเครื่องบินฝึกจำลอง (Gripen E/F Simulator) ของเครื่องบิน Gripen ด้วยความสนพระราชหฤทัย ในโอกาสนี้ มีพระราชปฏิสันถารกับนักบินในฝูงบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประทับหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ทอดพระเนตรการแสดงการบิน ชุดที่ 2 “การบินสูรยกิรัณ” (Suryakiran) จากกองทัพอากาศสาธารณรัฐอินเดีย

ภายหลังจบการแสดงการบิน เสด็จออกจากที่ประทับหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ กองทัพอากาศ จัดการแสดงการบินเนื่องในโอกาสครบ 88 ปี เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวาระที่กระทรวงกลาโหมได้ยกฐานะกรมทหารอากาศ ขึ้นเป็นกองทัพอากาศ ตั้งแต่พุทธศักราช 2480 ซึ่งปฏิบัติภารกิจอย่างมุ่งมั่นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ และดํารงความพร้อมของกําลังทางอากาศ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมทั้งการใช้ขีดความสามารถของกองทัพอากาศทุกมิติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มความสามารถตลอด 88 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงจัดงานขึ้น ภายใต้แนวคิด “AIR SOVEREIGNTY THROUGH UNBEATABLE COLLABORATION” หรือ “อธิปไตยเหนือน่านฟ้า ผ่านความร่วมมืออันแข็งแกร่ง”

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเกียรติประวัติความภาคภูมิใจ ในเกียรติภูมิของกองทัพอากาศ และแสดงถึงขีดความสามารถของกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคง การสนับสนุนหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน การใช้ขีดความสามารถในทุกด้านเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนแสดงถึงแผนการพัฒนากองทัพอากาศในอนาคต แสดงถึงความพร้อมของกองทัพอากาศ ในด้านการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการบิน และภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อันนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล ที่ส่งเสริมและกระชับความร่วมมือภายในประเทศ และเสริมสร้างมิตรภาพความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกองทัพอากาศ กับกองทัพอากาศมิตรประเทศ โดยปีนี้ได้จัดแสดงอากาศยานของกองทัพอากาศไทย และกองทัพอากาศมิตรประเทศ ทั้ง 3 ประเทศ ด้วยกัน ประกอบด้วย กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา กองทัพอากาศสาธารณรัฐอินเดีย และกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม ณ กองบิน 6 ท่าอากาศยานทหารดอนเมือง.