คดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกทุเรียนโดยกลุ่มทุนต่างชาติ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด หมู่ 20 บ้านห้วยนา และหมู่ 14 บ้านเขากล้วยไม้ ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพบว่าบริษัทเอกชนของคนไทย ได้กว้านซื้อที่ดินชาวบ้าน ใน อ.ท่าตะเกียบ นับพันไร่ โดยที่ดินเหล่านั้น อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ นอกจากนี้ บางส่วนอยู่ระหว่างการสำรวจรายชื่อราษฎร เพื่อให้เข้าทำกินอย่างถูกต้อง ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และบางส่วนนำชื่อชาวบ้านจาก จ.จันทบุรี-ตราด มาสวมสิทธิที่ คทช. โดยเจ้าตัวไม่ทราบเรื่อง จึงได้ไปแจ้งความเอาไว้แล้ว

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ทีมข่าวเดลินิวส์ ยังคงติดตามเรื่องดังกล่าว และสัมภาษณ์พิเศษ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน มาอย่างต่อเนื่อง โดยนายบารมี ชัยรัตน์ เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่กับพี่น้องเกษตรกร ในหลายพื้นที่มายาวนาน กล่าวถึงการสวมสิทธิที่ดิน ว่าต้องมาดูก่อนว่า วิธีการในการจัดที่ของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แรกเริ่มมีวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินอย่างไร ซึ่งตามนโยบายของ คทช. ก็จะจัดสรรที่ดินให้กับบุคคลที่ครอบครองอยู่ในพื้นที่นั้นๆ มาก่อนเป็นหลัก เช่นครอบครองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มาก่อนหรือหลัง ก็จะยึดมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 เป็นหลัก

แต่ถ้าเกิดบุคคลในครอบครองพื้นที่นั้นๆ ครอบครองพื้นที่เกินกว่าจำนวนที่การจัดสรรที่ดินของ คทช. กำหนดไว้ เช่น คทช. อนุญาตให้ครอบครองที่ดินได้ไม่เกิน 20 หรือ 30 ไร่ แต่หากที่ผ่านมาบุคคลรายใดครอบครองพื้นที่เกินกว่าที่ คทช. กำหนด ก็จะถูกตัดพื้นที่ให้เหลือเพียง 20 หรือ 30 ไร่ โดยพื้นที่ที่เหลือของบุคคลรายนั้นๆ ก็ถูกจัดสรรไปให้กับผู้ยื่นขอรายอื่นๆ ต่อไป ซึ่งผู้ยื่นขอรายอื่นๆ นั้น ตามหลักเกณฑ์ก็ต้องเริ่มคัดสรรจากบุคคลในพื้นที่นั้นๆ ก่อน ที่สามารถยื่นขอรับสิทธิในการจัดสรรที่ดินของ คทช. ได้ ก็คือคนในชุมชน ในหมู่บ้านนั้นๆ หากไม่มีในชุมชน ก็ขยับเป็นคนในตำบล ในอำเภอ หรือในจังหวัดนั้นๆ หรือหากในจังหวัดไม่มี ถึงจะขยับไปเป็นการจัดที่ดินให้กับคนที่อยู่จากจังหวัดอื่น

จึงมองว่า กรณีการสวมสิทธิที่ดิน คทช. ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ แควระบมและป่าสียัด อ.ท่าตะเกียบ ที่นำเอาที่ดินแปลง คทช. ไปจัดสรรให้กับบุคคลที่มาจากจันทบุรี ได้อย่างไร เพราะว่าคนในพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ ที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน หรือว่ามีที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสำหรับเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่แปลกมาก โดยเฉพาะในกระบวนการสรรหา ตรวจสอบ ถึงคุณสมบัติต่างๆ ของผู้มีสิทธิ ยื่นขอที่ดินจากโครงการจัดสรรที่ดินให้ชุมชนของ คทช. ในการได้รับสิทธิการจัดสรรที่ดินจาก คทช. รวมไปถึงหลังจากตรวจสอบคุณสมบัติและสิทธิแล้ว กระบวนการในการออกเอกสารอนุญาตให้ทำกินในที่ดิน คทช. หรือการให้สมุด คทช. นั้น ก็มีการออกให้โดยเจ้าของพื้นที่ เช่น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก็ออกโดยกรมป่าไม้ เพราะฉะนั้นตอนออกเอกสารอนุญาตให้บุคคลนั้นๆ เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ไม่ได้มีการตรวจสอบก่อนหรือ ว่าบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่ แหล่งพำนักอาศัย หรือเป็นบุคคลในพื้นที่ไหน หรือมีที่อยู่ตามทะเบียนราษฎรอยู่พื้นที่ใด มีตัวตนมาพิสูจน์อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ดี มองว่าขั้นตอนในการแจกสมุด คทช. ให้กับบุคคลรายนั้นๆ ก็มีการตรวจสอบมาในระดับหนึ่ง ถึงได้มีการออกสมุด คทช. ให้กับบุคคลรายนั้นๆ ตามหลักฐานต่างๆ แต่ต่อมา หากบุคคลรายนั้นออกมาบอกว่า ตนถูกสวมสิทธิ ก็พิสูจน์กันว่าสวมสิทธิจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงคือได้รับสิทธิแล้วนำไปขายต่อ ก็ต้องเพิกถอน ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ หากพบว่าเป็นการสวมสิทธิจริง ก็อาจมองได้ว่ามีการปลอมแปลงหลักฐานเอกสารต่างๆ ขึ้นมา แบบนี้ก็เข้าข่ายว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งต้องมีการดำเนินการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ที่อยู่ในพื้นที่ไปตรวจสอบการทุจริตของตนเอง จึงมองว่า เรื่องการตรวจสอบในที่ดิน คทช. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จำเป็นที่จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการ หรือ ตั้งคณะทำงาน ที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ ที่ไม่ใช่คนที่เป็นคนจัดที่ดิน เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ จึงจะได้ข้อเท็จจริง ว่าเป็นอย่างไร

อีกประเด็นหนึ่งคือ ทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า ในพื้นที่มีบริษัทเอกชนเข้าไปปลูกทุเรียนอยู่นั้น มีทั้งพื้นที่ที่อยู่ในโครงการ คทช. และพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างเตรียมการอนุญาต ซึ่งตนมองว่า อาจจะเป็นพื้นที่ที่ผู้ได้รับอนุญาตนั้นเคยครอบครองอยู่ แต่เกินสิทธิที่จะได้รับอนุญาต เลยมีการสมคบกันระหว่างผู้ได้รับอนุญาตกับเจ้าหน้าที่ คือให้ทำในพื้นที่ต่อไปเท่าเดิม เช่น ครอบครองอยู่ 100 ไร่ ก็รู้เห็นเป็นใจกับ เจ้าหน้าที่รัฐ โดยยื่นขอรับอนุญาตในที่ดิน ตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ 20-30 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือ ก็มีการใช้พื้นที่นั้นต่อไป โดยที่ทางเจ้าหน้าที่รัฐ ก็มิได้นำพื้นที่ที่เหลือนั้น ไปจัดสรรให้กับบุคคลอื่นที่มีสิทธิตามเงื่อนไข พอเรื่องแดงขึ้นมา เจ้าหน้าที่ก็ออกมาแก้ตัวว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการอนุญาต

นายบารมี กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการของ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ยังมีความไม่ชัดเจน โปร่งใส ในการดำเนินการจัดสรรที่ดิน ข้อสำคัญคือการแต่งตั้งชุดที่เข้ามาดำเนินการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการ หรือ คณะทำงาน เพื่อที่ตรวจสอบ ความโป่งใสในการดำเนินการจัดสรร ที่ดิน ของ คทช. ในพื้นที่ต่างๆ นั้น ต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ดำเนินการตรวจสอบ แต่ต้องมีคณะทำงานที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบ จึงจะสร้างความโปร่งใส และทำให้ราษฎรผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินจริงๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการของ คทช.