สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ว่า นายโมฮัมหมัด มิซานูร์ ราห์มัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบังกลาเทศ ซึ่งรับผิดชอบค่ายผู้ลี้ภัย เปิดเผยว่า “ได้รับแจ้งด้วยวาจา และในวันนี้ได้รับหนังสือยืนยันการปรับลดค่าอาหารเหลือ 6.50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 219 บาท) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป”

“สิ่งที่ได้รับตอนนี้นั้นไม่เพียงพออยู่แล้ว จึงยากที่จะคำนึงถึงผลที่อาจตามมาจากการปรับลดเงินครั้งใหม่นี้” เขากล่าวเสริม

ทั้งนี้ทั้งนั้น โฆษกของโครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) ในกรุงธากา ไม่ได้ตอบรับคำขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว

ในหนังสือของดับเบิลยูเอฟพีที่ส่งถึงราห์มัน ระบุว่า พยายามระดมทุนเพื่อคงให้ค่าอาหารอยู่ที่ 12.50 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 421 บาท) แต่ไม่สามารถหาผู้บริจาคได้ และหากมีการปรับลดลงเหลือต่ำกว่า 6 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 202 บาท) จะต่ำกว่าขั้นต่ำสำหรับการเอาชีวิตรอด และไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการพื้นฐานได้

ขณะเดียวกัน ดับเบิลยูเอฟพีไม่ได้ให้รายละเอียดว่า การตัดงบประมาณครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำของสหรัฐ ในการตัดความช่วยเหลือกับภารกิจต่างประเทศหรือไม่ แต่ราห์มันระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูง” เนื่องจากสหรัฐคือผู้บริจาครายใหญ่ สำหรับการตอบสนองต่อผู้ลี้ภัย

ก่อนหน้านั้น ยูเอ็นเคยระบุว่า การปรับลดอาหารสำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาลงเหลือ 8 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 270 บาท) ต่อคนต่อเดือนเมื่อปี 2566 ได้ส่งผลให้เกิดความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนต้องยกเลิกในเวลาต่อมา หลังพบว่าผู้ลี้ภัยถึง 90% ต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงอาหาร และเด็กมากกว่า 15% ประสบปัญหาทุพโภชนาการ ในอัตราสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้.

เครดิตภาพ : AFP