เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 68 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์  รองประธานคระกรรมาธิการ (กมธ. )พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..)พ.ศ. … สภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม กมธ. ที่มี นายศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน  ได้พิจารณาในร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องกระทำชำเรา และคุกคามทางเพศ ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย พร้อมสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอเป็นร่างหลักต่อสภา และสภาเห็นชอบรับหลักการไปแล้วในวาระ 1 รวมถึงร่างของ น.ส.ภคมน หนุนอนันต์  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และคณะ ประกบมาด้วยนั้น ต้องขอบคุณ กมธ.และที่ปรึกษา กมธ. ทุกท่าน ที่ช่วยกันพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาที่เข้มข้นอย่างมาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานในด้านต่างๆ ที่ให้ความเห็น และข้อเสนอแนะ

โดยนายศุภชัย กล่าวว่า กมธ. ได้ให้ความสำคัญถึงความเสียหาย และความบอบช้ำของผู้เสียหายจากคดีทางเพศเป็นอย่างมาก ซึ่งได้มีการพิจารณาอย่างละเอียด และรอบคอบ จากข้อมูลที่หลากหลาย และช่วยกันร่างกฎหมายนี้เพื่อให้สามารถบังคับใช้ และคุ้มครองผู้เสียหายในคดีกลุ่มนี้ได้มากที่สุด ถือเป็นมิติใหม่ และความก้าวหน้าของวิธีทางกฎหมายไทย ที่จะช่วยคุ้มครองประชาชนทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ ให้จัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ด้าน น.ส.พัชรินทร์ ในฐานะผู้ริเริ่มร่างกฎหมายฉบับนี้ และรองประธาน กมธ. กล่าวว่า ในต่างประเทศเอง ได้มีการพิจารณากฎหมายที่ชื่อว่า “Take it down”  ที่มีเนื้อหาบังคับให้แพลตฟอร์มที่โพสต์เนื้อหาเหล่านี้  ลบสื่อลามกอนาจารเด็ก และภาพส่วนตัวที่ไม่ได้รับความยินยอมภายใน 48 ชั่วโมง และทำให้การเผยแพร่ หรือข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ภาพส่วนตัวเป็นความผิดทางอาญาของรัฐบาลกลาง  ซึ่งเมื่อพิจารณาในกฎหมายของไทยแล้ว มีความเกี่ยวโยงในเรื่องของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวก และลดความบอบช้ำให้กับผู้เสียหาย จึงได้พิจารณาตามบริบทของสังคมไทย และให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุม

น.ส.พัชรินทร์ กล่าวว่า  โดยสิ่งที่ กมธ.ได้พิจารณา มีสาระสำคัญในการเสริมสร้างความคุ้มครองแก่ผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศหรือถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งลบหรือระงับข้อมูลที่เป็นการละเมิดได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการก่อน จากเดิมกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กำหนดให้การลบข้อมูลหรือระงับข้อมูล ต้องผ่านการใช้อำนาจตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ทำให้ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงกระบวนการนี้โดยตรง ส่งผลให้การแก้ไขปัญหามักล่าช้าและไม่ทันการณ์  แต่ในร่างกฎหมายใหม่ ที่เพิ่มเติมมาตรา 284/…(ขึ้นอยู่กับการพิจารณา) ได้ยกระดับสถานะของผู้เสียหายอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้ผู้เสียหายมีสิทธิเข้าถึงศาลได้เองทันที ซึ่งศาลสามารถพิจารณาสั่งลบข้อมูลหรือระงับการเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว

น.ส.พัชรินทร์ กล่าวต่อว่า ความสำคัญของกลไกนี้ อยู่ที่การปิดช่องว่างด้านการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในยุคดิจิทัล ที่การคุกคามทางเพศและการละเมิดความเป็นส่วนตัว มักเกิดขึ้นและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากไม่เร่งระงับข้อมูลดังกล่าว ความเสียหายจะขยายวงกว้าง สร้างผลกระทบทั้งทางจิตใจ ชื่อเสียง และศักดิ์ศรีของผู้เสียหายอย่างรุนแรง  ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปกฎหมายให้ทันต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนถึงการตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในยุคดิจิทัล.