น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าครั้งที่ 2 ว่า ครั้งนี้ที่ประชุมได้หารือถึงการปราบปรามระยะเร่งด่วน และการประชาสัมพันธ์ ปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมาย พร้อมกับนำเสนอมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จะมีหน่วยงานต่างๆ รับแจ้งเบาะแส เช่น สายด่วน สคบ. 1599 สายด่วนกระทรวงดีอีฯ 1212 หรือศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้าได้ ขณะเดียวกัน สคบ. ได้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ เพิ่มแบนเนอร์แจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะอีกด้วย ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือดีจีเอ กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ จะแล้วเสร็จ โดยจะมีการรวบรวมเบาะแสต่างๆ ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งแบบฟอร์มนี้จะแสดงยอดการแจ้งเบาะแส และยอดการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อจะได้เห็นความคืบหน้าการทำงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังหารือถึงการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาวที่จะต้องมีประสิทธิภาพ คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งจะเรียนนายกรัฐมนตรีให้รับทราบตามกรอบระยะเวลา 15 วัน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ได้สั่งการให้ สคบ. เชิญแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มรวมถึงผู้ประกอบการขนส่ง เช่น ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เอ็กซ์ ลาซาด้า ช้อปปี้ และผู้ประกอบการทั้งหมดที่สำคัญที่ สคบ. ได้ประสาน ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกับตั้งแต่ทำนโยบายเก็บเงินปลายทาง โดยผู้ประกอบการพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีและจะมีความเข้มงวดในการดำเนินการเพิ่มขึ้น เข้ามากำชับไม่ให้เกิดการขายบุหรี่ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดี ทั้งนี้จากการสังเกตพบว่าเมื่อมีการแจ้งเบาะแสว่ามีหารขายบุหรี่ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็ถูกดึงออกอย่างรวดเร็ว ด้านผู้ประกอบการขนส่งเอง เราก็ได้ให้แนวทางที่จะรับพัสดุโดยให้ผู้ส่งมีพัสดุตรงกับบัตรประชาชน เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลหากเจ้าหน้าที่จะใช้ในการสืบสวนต่อ รวมถึงให้เก็บข้อมูลผู้ส่งสินค้าไว้ 30 วัน ส่วนบางเจ้าที่ใช้เครื่องสแกนในการคัดกรองสินค้า ก็จะสแกนให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันการขายบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ได้เน้นย้ำกับร้านค้าออนไลน์เพื่อปิดกั้นให้มากสุด ไม่ให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนและเยาวชนเข้าถึงยาก
ทั้งนี้สถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1-26 ก.พ. 68 มีการจับกุมปราบปรามไปแล้ว 666 คดี ยึดของกลางได้กว่า 4 แสนชิ้น รวมมูลค่า 41 ล้านบาทเศษ ตนจึงสั่งการในที่ประชุมว่าภายในวันพรุ่งนี้ (7 มี.ค.) หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและปราบปราม เช่น กรมศุลกากร กระทรวงมหาดไทย สคบ. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีการปิดกั้นเว็บยูอาร์แอลต่างๆ ให้สรุปข้อมูลทั้งหมดไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลยอดการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนนำเรียนนายกรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ และจะมีการแถลงข่าวให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
“สำหรับช่องทางที่มีการลักลอบเข้ามากสุดคือด่านชายแดน โดยเฉพาะทางเรือ ตามมาด้วยทางบก ซึ่งอยู่บริเวณชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด และมีข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงที่ทำงานร่วมกับศุลกากรอยู่ด้วย สำหรับมาตรการป้องกันตั้งแต่ต้นทางทั้งทางบกและทางเรือไปจนถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ เราก็มีการป้องกันตามด่านชายแดนทุกด่าน ร้านค้าที่มีหน้าร้าน และออนไลน์ในและประเทศอย่างเข้มข้น โดยมีการเชิญศุลกากรมาทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง โดยการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอธิบดีศุลกากรก็เห็นด้วยว่าทุกเคสการจับกุม ทางศุลกากรจะไม่มีการระงับคดีโดยเด็ดขาด และจะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อสืบเส้นทางการเงิน และนำไปสู่การยึดทรัพย์และอายัดทรัพย์ต่อไป พร้อมส่งให้ตำรวจสอบสวนกลางดำเนินคดีต่อไป” น.ส.จิราพร กล่าว