เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์ภายหลังคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) พิจารณากรณีการฮั้วเลือก สว. 67 ซึ่งมีมติไม่รับคดีอั้งยี่ และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงให้เป็นคดีพิเศษ โดยให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการเฉพาะความผิดฐานฟอกเงินเท่านั้น ทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ว่า เรื่องกฎหมายฟอกเงิน เมื่อมีมติออกมาแล้ว ดีเอสไอสามารถดำเนินการได้ ซึ่งต้องดูกระบวนการสืบสวนสอบสวนหลังจากนี้ ว่าความผิดจะไปถึงแค่ไหนเพียงใด อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร หรือเป็นปี เนื่องจากยังต้องมีการสืบพยานหลักฐานจำนวนมาก เพราะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องถึง 1,200 คน ไม่รวมถึงบุคคลที่อยู่ภายนอก ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะของการสนับสนุนการกระทำความผิด
นายยุทธพร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังต้องมีความเห็นจากพนักงานสอบสวนอีกว่า เห็นควรสั่งฟ้องกับบุคคลใดบ้าง หรือโยงใยไปถึงบุคคลที่อยู่ภายนอกวงด้วย ทั้งนี้ อาจจะต้องส่งไปถึงพนักงานอัยการ และชั้นศาลด้วย ตนมองว่า การที่ดีเอสไอรับเรื่องนี้ แน่นอนว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการได้มาซึ่ง สว.นั้น มีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดีจำนวนไม่น้อย เพราะอย่าลืมว่ากฎหมายฟอกเงินนี้ ก็มีความผิดฐานอั้งยี่รวมอยู่ด้วย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกันได้ ส่วนจะกระทบต่อสถานภาพของ สว.หรือไม่นั้น ตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะจะต้องมีผลสรุปสุดท้ายก่อนว่า ใครจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดบ้าง
เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะกระทบเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ก็เป็นหนึ่งในหลายปัจจัย แม้ไม่มีพรรคไหนระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับ สว.ก็ตาม แต่ก็มีหลายคนไปเชื่อมโยงกัน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องโควตารัฐมนตรี และนโยบายต่างๆ จุดยืนทางการเมือง หากพรรคร่วมรัฐบาลมีจุดหมายที่ปักธงเดียวกัน คือมุ่งไปสู่การเลือกตั้งที่รออยู่นั้น ตนคิดว่า ยังไม่มีพรรคไหนพร้อม ณ วันนี้ไม่มีใครสละรัฐนาวา
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นนั้น ก็พุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะไม่ได้เห็นรอยร้าวที่แท้จริง เพราะโอกาสที่จะโหวตผ่านมีสูง ไม่เห็นการเปรียบเทียบกับรัฐมนตรีต่างๆ ว่าใครได้มากหรือน้อยกว่ากัน ซึ่งจะสะท้อนต่อความมั่นใจ หรือเชื่อมั่นต่อกัน ในระยะสั้นตนคิดว่าไม่มีอะไร ส่วนระยะยาวต้องรอดู
เมื่อถามว่าจะสะท้อนว่าพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยไม่พร้อมจะแตกหักกันหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ตนมองว่า การไปพบปะของบรรดา 4 แกนนำตัวจริงของรัฐบาลชุดนี้ที่อยู่นอกสนาม ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา อาจจะมีการเชื่อมโยงถึงการมีดีล แต่ไม่มีใครทราบรายละเอียดตรงนั้น ภาพที่ออกมาในลักษณะการตัดสินใจของคณะกรรมการคดีพิเศษ ก็เชื่อว่าข้าราชการประจำระมัดระวังเช่นกัน แม้จะทำให้ถูกโยงไปทางการเมือง.