เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ว่า ในวันที่ 20 มี.ค. 68 เวลาประมาณ 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร SAT-1 และทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 ทสภ. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่ง สร้างความปลื้มปีติ และเป็นโอกาสอันดีที่ปวงชนชาวไทย และชาว ทอท. จะได้ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ

นายกีรติ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม และ ทอท. ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว โดยในวันที่ 20 มี.ค. 68 ทอท. จะปิดพื้นที่บริเวณ S101-S113 เพื่อใช้ในพิธีเปิดอาคาร SAT-1 โดยในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตามปกติ อย่างไรก็ตามสำหรับอาคาร SAT-1 เปิดให้บริการแบบ Soft Opening ตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 ซึ่งจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารที่มาใช้บริการ พบว่า ภาพรวมได้คะแนน 4.8 เต็ม 5 คะแนน โดยปัจจุบันเปิดให้บริการครบทั้ง 28 หลุมจอด มีสายการบินมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 50 สายการบินต่อวัน ประมาณ 150 เที่ยวบินต่อวัน อาคารหลังนี้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้กับ ทสภ. ได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี เป็น 65 ล้านคนต่อปี  

นายกีรติ กล่าวอีกว่า ขณะที่รันเวย์ที่ 3 ได้เปิดใช้บริการมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 67 ช่วยรองรับเที่ยวบินของ ทสภ. ได้มากขึ้นจาก 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 96 เที่ยวบินต่อ ชม. ทำให้ปัญหาการรอขึ้นลงของเครื่องบิน และการบินวนรอบนน่านฟ้าหมดไป สำหรับในปี 2567 ทสภ. มีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 60 ล้านคนต่อปี คาดว่าในปี 2568 ปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 64 ล้านคน ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ที่มีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 62 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ทอท. มีแผนพัฒนา ทสภ. ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 150 ล้านคนต่อปี เพื่อเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินที่สำคัญของโลก โดยในเดือน พ.ค. 68 ทอท. เตรียมเปิดประมูลโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทสภ. พื้นที่ประมาณ 6 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) วงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เริ่มก่อสร้างไม่เกินเดือน พ.ย. 68 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2571

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า เมื่อเปิดให้บริการจะทำให้ ทสภ. เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 80 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันยังมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รวมทั้งอาคาร SAT-2 รถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) และรันเวย์ที่ 4 วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท คาดว่าเริ่มก่อสร้างปี 2570 ใช้เวลา 6 ปี เปิดบริการปี 2576 ทำให้ ทสภ. รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 70 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้ ทสภ. จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 150 ล้านคนต่อปี และถือเป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 10 ของโลก ในด้านขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม เมื่อสร้างอาคารด้านทิศใต้ ก็ไม่มีความจำเป็นในการสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Terminal) โดยจะนำพื้นที่ไปใช้ในการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และคลังสินค้า (Cargo)

นายกีรติ ยังกล่าวถึงเรื่องการเข้าบริหารจัดการท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า เมื่อทางกระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะไม่ให้ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการ ทอท. ก็ไม่ได้มีปัญหาใด พร้อมปฏิบัติตาม ส่วนที่มีมติ ครม. ให้ ทอท. เข้าบริหารจัดการ 3 สนามบินของ ทย. ทางกระทรวงคมนาคม ก็คงต้องมีการขอทบทวนมติ ครม. ต่อไป.