เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 6 มี.ค. ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. และ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ จราวัสน์ ผกก.3 บก.ป. พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแถลงข่าวขบวนการร่วมกันปลอมแปลงบัตรประชาชน ชี้เป้ารีดเงิน เสียหายหลายหมื่นล้านบาท จับกุมผู้ต้องหา 6 ราย คือนายลี สัญชาติจีน อายุ 43 ปี และนางเอ้ สัญชาติเมียนมา อายุ 30 ปี ส่วนผู้ต้องหา 4 ราย สัญชาติไทย ซึ่งอยู่ระหว่างจำคุกในคดีอื่น

พ.ต.อ.สุริยศักดิ์ ระบุว่า เริ่มต้นจากมีผู้เสียหายชาวจีน ถูกตำรวจยึดทรัพย์จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี เข้ามาแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม โดยเล่าว่า เมื่อช่วงประมาณเดือน พ.ย. 2565 ได้เข้าไปในกลุ่ม Facebook ของชาวจีน ในนั้นมีโพสต์ระบุว่า สามารถทำบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และเอกสารอื่นๆ ของคนไทยให้คนจีนได้อย่างถูกต้อง คิดค่าดำเนินการ 1 ล้านบาท ผู้เสียหายเห็นว่าทำได้จริง จึงได้พูดคุยผ่านแชต จนมีการนัดหมายกันไปทำบัตรประชาชนที่เทศบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน

ในวันนัดหมาย ทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหาได้เดินทางไปที่เทศบาลตั้งแต่เช้า ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่ไม่มีการกรอกเอกสารอะไร จนแล้วเสร็จตอนเที่ยง ก็ได้บัตรประชาชนออกมา จากนั้นก็ได้จ่ายค่าดำเนินการให้กับผู้ต้องหาจำนวน 1 ล้านบาท

หลังจากที่ได้บัตรประชาชนมาแล้ว จึงต้องการที่จะเอาบัตรประชาชนไปทำพาสปอร์ต ซึ่งผู้ต้องหามีการพาผู้เสียหายไปที่กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ พอไปถึงมีนายหน้าคนไทยพาไปนั่งรอที่ร้านกาแฟบริเวณนั้น และในระหว่างที่รอทำบัตรพาสปอร์ต ก็มีตำรวจ สตม. 3 นาย แสดงตัวเข้าควบคุมตัวผู้เสียหายและขอตรวจค้นพบบัตรประชาชนปลอม จากนั้นมีการพาตัวเข้าไปในที่ทำการของเจ้าหน้าที่ สตม. และเรียกเงินจำนวน 5 ล้านบาท แต่ผู้เสียหายต่อรองเหลือ 2 ล้านบาท เป็นอันตกลงกันที่เงินจำนวนนี้

จากนั้นทางผู้ต้องหาได้มีการนำ QR Code ที่อยู่ในโทรศัพท์ให้ผู้เสียหายสแกนจ่ายเป็นเงิน USDT หรือ เงินคริปโตเคอร์เรนซี จากนั้นเงินก็ไหลเข้ากระเป๋า wallet และก็ถูกโอนต่อไปอีกทอดหนึ่ง จากนั้นผู้เสียหายได้ถูกปล่อยตัวออกมากลางดึกของวันนั้น ผู้เสียหายเกิดความกลัวเลยเก็บเรื่องนี้ไว้นานนับปี จนกระทั่งมีคนแนะนำให้มาแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม

ซึ่งทาง กก.3 บก.ป. ได้มีการสืบสวนเคสดังกล่าวพบว่า มีกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันก่อเหตุอยู่หลายกลุ่ม และมีการทำเป็นกระบวนการ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย ในการทำบัตรประชาชนจะมีการสวมเลขบัตรของคนไทยในพื้นที่จังหวัดที่ห่างไกล จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าของเลขบัตรประชาชนมีตัวตนอยู่จริง มีอาชีพทำไร่ ทำนา อยู่ต่างจังหวัด

ในขบวนการพบว่ามีการก่อเหตุหลายคน มีทั้งคนชี้เป้า, คนค้นข้อมูลของผู้เสียหาย, กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รีดเอาทรัพย์ และยังพบเส้นทางการเงินว่ามีการโอนเงินต่อหลายทอด โอนไปที่บริษัทนอมินี ที่มีเจ้าของเป็นคนสัญชาติจีน มีกรรมการผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย ซึ่งกรรมการผู้ถือหุ้นไม่มีส่วนในการบริหารจัดการในบริษัทเลย ทำไร่ ทำนาอยู่บ้านนอก และได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือน 10,000-20,000 บาท โดยบริษัทนี้เชื่อว่าเป็นบริษัทที่รับฟอกเงินกับธุรกิจผิดกฎหมาย เนื่องจากบริษัทนี้ จะรับเงินจากหลายที่และแปลงเป็นคริปโตเคอร์เรนซี และมีการรับเงินที่โอนมาจากพื้นที่ ใกล้กับเมืองเมียวดี และเมืองปอยเปต ประเทศเพื่อนบ้านด้วย มีการโอนเงินมาหลายล้านบาท ส่วนตรงนี้ต้องขยายผลต่อเพิ่มเติม

นอกจากนี้ตัวนายลี ได้หลบหนีเข้ามายังประเทศไทย เพราะได้มีคดีฉ้อโกงในประเทศจีนกว่า 3,000 ล้านหยวน หรือเป็นเงินไทยกว่า 14,000 ล้านบาท ลงมือก่อเหตุในปี 2562 และหนีเข้าไทยในปี 2564 ในวีซ่านักท่องเที่ยว หลังจากนั้นก็ได้มีการสวม “บัตรหัวศูนย์” ซึ่งเป็นคนที่อยู่ตะเข็บชายแดน ทำไร่ทำนา และไม่ได้ไปแจ้งเกิด ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งรับรองการเกิดโดยผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน นายลีและภรรยาซื้อบัตรหัวศูนย์ มาในราคา 60,000 บาท พอซื้อบัตรได้สัญชาติไทย ก็มีสิทธิเหมือนคนไทย สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ ได้รับการรักษาเหมือนคนไทยทุกอย่าง และย้ายไปอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ. ชลบุรี มีบ้าน มีรถ ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนไทยทั่วไป

จากนั้นนายลียังเปิดบริษัทร่วมกับนอมินีคนไทย ที่ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรปราการ มีนายหน้ารับจดทะเบียนบริษัทให้ มีการระบุที่ตั้งของบริษัทชัดเจน แต่เมื่อไปตรวจสอบพบว่าไม่มีการดำเนินกิจการอยู่จริง ไม่มีที่ตั้งบริษัท ไม่มีพนักงาน และยังพบอีกว่าที่ตั้งบริษัทนั้นเป็นที่ตั้งอีก 14 บริษัท คนที่เป็นหุ้นส่วนก็เป็นชื่อซ้ำๆ ของคนไทย ตำรวจได้สุ่มเรียกชื่อของหุ้นส่วนบริษัทมา 5 ที่ ซึ่งทุกคนยอมรับว่าไม่ได้เป็นหุ้นส่วนจริง เป็นเพียงผู้ถูกว่าจ้างให้มาเปิดบริษัทเท่านั้น และเชื่อว่าถ้าขยายผลต่อไป จะเจออีกกว่า 100 บริษัท ที่เป็นลักษณะเดียวกัน

ทาง กก.3 บก.ป. ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานจนสามารถออกหมายจับ 6 หมาย จากการตรวจค้น 11 จุดใน 7 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 2 ราย คือ นายลี และนางเอ้ ภรรยา ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น, ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม, ร่วมกันสนับสนุนพนักงานเจ้าหน้าที่ปลอมบัตรประชาชน, ร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่”

ส่วนอีก 4 รายตามหมายจับ พบว่าเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ สตม. ที่ถูกดำเนินคดีอื่นไปแล้ว และขณะนี้อยู่ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไปแจ้งข้อหาเพิ่ม ในความผิด “เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่”

จากการสอบยังพบอีกว่า ในบริษัทที่มีคนไทยเป็นนอมินี ใน 1 ปีที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนกว่า 400-500 ล้านบาท ส่วนนี้ต้องขยายผลต่อ และเร็วๆ นี้ จะมีการออกหมายจับเพิ่มอีก 18 หมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องอีกบ้าง.