ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และคณะทำงานระดับภาคใต้ชายแดน เปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) บรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วยข้อเสนอแนะเข้มข้น ตั้งแต่แนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิต ปากท้อง-การศึกษา-โครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์พื้นที่ ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายระดับนโยบาย นำโดย น.ส.แคทรียา ปทุมรส รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เข้าร่วมรับฟังอย่างใกล้ชิด

ในโอกาสนี้ ผศ. ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอแนวทางสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และนวัตกรรม การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการศึกษาและวิจัย พร้อมเผยโครงการต้นแบบ เช่น โครงการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ซึ่งใช้จังหวัดปัตตานีเป็นกรณีศึกษา เชื่อมโยงการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่

ขณะที่ทีม SDG Move ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก SDG Index ระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคแก่พื้นที่ พบว่าปัตตานีมีคะแนน SDG Index สูงที่สุด ได้ 56.15 คะแนน โดย SDG 7: พลังงานสมัยใหม่ SDG 9: โครงสร้างพื้นฐาน และ SDG 10: ความเท่าเทียม ทำได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับอีกสองจังหวัดชายแดน ในส่วนของจังหวัดนราธิวาสได้คะแนน SDG Index อยู่ที่ 51.79 คะแนน และยะลา ได้ 50.09 คะแนน สำหรับประเด็นความเสี่ยงร่วมกันของภาคใต้ชายแดนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs มีทั้งสิ้น 8 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 1: ยุติความยากจน SDG 2: ยุติความหิวโหย SDG 3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 6: น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG 8: งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG 11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG 12:การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG 17: หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ปัญหาร่วมสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ ความยากจน การศึกษาที่ไม่มีคุณภาพและเข้าถึงยาก โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเศรษฐกิจในพื้นที่ตกต่ำ โดยทางออกที่จะแก้ไขปัญหานั้นต้องอาศัยความรู้ข้ามภาคส่วนและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมสะท้อนยุทธศาสตร์ที่คาดหวัง เช่น การสนับสนุนการกระจายองค์ความรู้เรื่องเกษตรแบบผสมผสาน งานวิจัยศึกษาความต้องการสวัสดิการที่ตอบโจทย์ช่วงวัยและบริบทพื้นที่ และนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาทักษะแรงงานในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านการช่างและหัตถกรรม” ผศ.ชลกล่าวสรุป