ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติเห็นชอบให้รับคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ในคดีฮั้ว สว. 67 ไว้เป็นคดีพิเศษด้วยมติชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ด่วน! บอร์ดดีเอสไอ รับคดีฟอกเงิน ‘ฮั้ว สว.67’ เป็นคดีพิเศษด้วย 11 เสียง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 6 มี.ค. 68 “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงภายในบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ว่า สำหรับองค์ประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษที่เข้าประชุมในวันนี้มีทั้งสิ้น 18 ราย จากทั้งหมด 22 ราย ซึ่งบุคคลที่ขาดประชุม ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. แม้มอบหมายให้ พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) เข้าประชุมแทน แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วม ขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ขาดประชุม 3 ราย ได้แก่ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และนายเพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเข้าเซ็นชื่อแต่ไม่เข้าร่วมประชุม

ส่วนสาเหตุว่าทำไมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จึงมีมติ 11 เสียง ให้รับคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ในคดีฮั้ว สว. 67 ไว้เป็นคดีพิเศษเพียงฐานความเดียวนั้น แหล่งข่าวเผยว่า เนื่องด้วยกรรมการได้มีการยกข้อหารือเมื่อการประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 2/2568 วันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่าในลักษณะของคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ถือเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ให้เป็นคดีพิเศษได้ด้วยอำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือเสียงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการที่มี โดยเฉพาะถ้าเป็นการชี้ขาดว่าให้เป็นความผิดฐานฟอกเงินทางอาญา แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพราะเข้าเงื่อนไขกรณีที่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นความผิดตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อยู่แล้วนั้น จะเป็นคดีพิเศษได้โดยไม่ต้องอาศัยมติบอร์ด ซึ่งจากรายงานการสืบสวนของดีเอสไอ และการสอบปากคำพยาน ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการใช้เงินเกี่ยวกับขบวนการเลือก สว. 67 มากเกิน 300 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือก สว. ระดับอำเภอ และต่อเนื่องไปจนถึงหลังจบการเลือก สว. ระดับประเทศ ทั้งยังหมายรวมถึงการเตรียมทรัพย์สินไว้สำหรับใช้กระทำความผิด ทั้งการใช้หรือผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาด้วย จึงได้มีการวินิจฉัยในวันนี้ของกรรมการให้รับคดีฟอกเงินไว้เป็นคดีพิเศษ ด้วยมติชี้ขาด 11 เสียง จากทั้งหมด 18 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ส่วนการสอบสวนคดีพิเศษหลังจากนี้ ทาง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการทำสำนวนคดี

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ส่วนหลังจากนี้หากมีการสอบสวนขยายผล แล้วพบฐานอาญาความผิดอื่น อาทิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (ฐานอั้งยี่) และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) นั้น ทางอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถรับเพิ่มไว้ดำเนินการได้ เนื่องจากจะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน โดยไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมของบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษอีกแล้ว แต่คณะพนักงานสอบสวนจะต้องไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้ชัดเจน ส่วนกรณีของฐานความผิดมาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จะเป็นอำนาจดำเนินการของ กกต. เพื่อไม่ให้เป็นการทับซ้อนหรือขัดข้อกฎหมายระหว่าง 2 หน่วยงาน

แหล่งข่าวเผยต่อว่า สำหรับคดีความผิดทางอาญาตามกฏหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) โดยคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายดังกล่าว ได้มีลักษณะดังต่อไปนี้ (ก) คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อนจำเป็นต้องต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ และ (ข) คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ แต่ทั้งนี้ หลัก ๆ แล้วคดีฮั้ว สว. 67 ในที่ประชุม ได้กล่าวถึงการเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคม

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า กระบวนการหลังจากรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ก็จะมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อทำการสอบสวนและออกหมายเรียกพยาน รวมไปถึงการสืบเส้นทางการเงิน โดยเฉพาะในส่วนของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินหรือรับผลตอบแทนตัวเงิน รวมถึงการพิจารณารายการทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งหากพบที่มาของทรัพย์สินดังกล่าว ว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินทางอาญาในคดีมูลฐาน เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะทำการออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบชั่วคราว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกรรมการที่มีมติไม่เห็นชอบ 4 ราย ประกอบด้วย 1.นายนพดล เกรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา) 2.นายจิรานุวัฒน์ ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกฎหมาย (ผู้แทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) 3.นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง (ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย) และ 4.พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ส่วนมติงดออกเสียง 3 ราย ประกอบด้วย 1.นายณรงค์ งามสมมิตร ที่ปรึกษากฎหมาย (ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์) 2.นางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ (ผู้แทนอัยการสูงสุด) และ 3.นายอรรถพล อรรถวรเดช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง)