เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนการดำเนินโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของสำนักงาน กกต. ระยะ 5 ปี (กิจกรรม Kick-off Meeting) ซึ่งมีการไลฟ์สดผ่านเพจสำนักงาน กกต. โดยนายอิทธิพร กล่าวตอนหนึ่งว่า สำนักงาน กกต. ต้องก้าวให้ทันระบบดิจิทัล หลายที่มีบริการแล้ว อย่างสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อมีคนมาร้องทุกข์แล้ว วันนี้ อีก 2-3 สัปดาห์เขาอยากรู้ว่าเรื่องไปถึงไหนก็สามารถเข้าระบบและรู้ได้เลยว่าตอนนี้เรื่องอยู่ในชั้นอนุกรรมการ และรู้ต่อไปว่าชั้นต่อไปคืออะไร ไปจนถึงชั้นตัดสินใจที่จะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างไร เขาเอามาใช้แล้วกับบุคคลภายนอก ขณะที่ ของ ป.ป.ช. ของศาลก็มีแล้ว ทั้งส่วนที่ใช้กันเอง และส่วนที่เปิดใช้ให้ประชาชนมีสิทธิเข้ามาใช้
ส่วนของ กกต.ที่มีมาก คือ คำร้องทั้งหลาย ทำอย่างไรจะให้เป็นระบบ และตอบโจทย์ความสงสัยของสาธารณชนได้บ้าง อย่างวันนี้ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระหว่างที่เขาประชุมกันอยู่ เราก็พูดๆ กันอยู่ว่า มีข่าวว่า กกต.จะโอนเรื่องไปให้ดีเอสไอ กกต.จะไม่ทำเรื่องนี้แล้ว ทำให้คนสงสัยว่า กกต.ทำเรื่องคำร้อง สว.อยู่หรือไม่ ซึ่งทั้งตนและเลขาฯ กกต.ก็พูดไปหลายครั้งในช่วงที่กำลังฮอตๆ ว่า คำร้อง สว.มีทั้งหมด 500 กว่าเรื่อง เป็นคำร้องที่เกี่ยวกับมาตรา 77 (1) ประมาณ 200 กว่าเรื่อง ทำเสร็จไปแล้วประมาณ 100 กว่าเรื่อง ไม่รับก็มีเพราะไม่มีอะไรเลย แต่ที่อยู่ระหว่างเข้มข้นมีประมาณ 150 เรื่อง การสืบสวนไต่สวนต้องใช้เวลา เพราะเป็นกระบวนการเกี่ยวข้องทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ฉะนั้นคนที่เกี่ยวข้องมีเยอะ และเป็นกระบวนการซึ่งเป็นระบบยุติธรรมจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกร้อง ให้เขามีโอกาสทราบ รับรู้ ชี้แจง แก้ข้อกล่าวหา
“จนคนลืมไปแล้วว่า เอ๊ะ กกต.ทำอยู่หรือเปล่าที่เขาร้องๆ กัน ซึ่งก็ยังทำอยู่ แล้วเรื่องมาถึงคณะอนุฯ ของเราก็เยอะ แต่ดีเอสไอ เท่าที่จำได้ มีคำร้อง 3 เรื่อง ที่เขาจะรับหรือไม่รับ แต่ของเราที่ตรวจสอบล่าสุดมี 122 เรื่อง ที่มีความเข้มข้นหมายถึงว่าผ่านคณะสืบสวนไต่สวนมาแล้ว” นายอิทธิพร กล่าว
ประธาน กกต. กล่าวต่อว่า ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ถ้ามีระบบแสดงความเคลื่อนไหวของกระบวนการพิจารณาของ กกต.ให้คนได้รับรู้ รับทราบว่า กระบวนการคำร้องของ กกต.มันมีกี่ขั้น ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาของ กกต. ขั้นตอนที่ 1 คือคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน 20 วัน บวก 15 วัน และบวกได้อีก 15 วัน หากไม่ทันก็ขอต่อเลขาฯ อนุมัติ 2.สืบสวนไต่สวนจังหวัด เมื่อเสร็จแล้วก็ไปขั้นที่ 3 ไป ผอ.จังหวัด 4.เข้ามาส่วนกลาง 5.คณะอนุฯ และ กกต. ดังนั้นถ้า กกต.มีแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะบอกได้ว่าคำร้องเรื่องนี้เข้ามาส่วนกลางแล้วคนก็จะเห็นความคืบหน้าว่า คำร้องนี้ยื่นเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 หลังวันเลือกระดับประเทศวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ถึงวันที่ 6 มี.ค. 2568 เหลืออีก 3 เดือนกว่าๆ ถึงจะครบปี ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่ กกต.กำหนดไว้เองว่าจะทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ถ้าไม่เสร็จก็ขยายเวลาได้ แต่ต้องมีเหตุผลในการขยาย
ส่วนรวมทั้งคำร้อง สส. ปี 2566 ซึ่งขณะนี้ก็เหลืออยู่ไม่กี่คำร้อง รวมถึงคำวินิจฉัยต่างๆ การใช้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามีระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำงาน กกต.