จากกรณีที่เดลินิวส์ ได้นำเสนอข่าว ว่าพบนายทุนปลูกทุเรียนแปลงใหญ่นับพันไร่ ในพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งพบว่า ที่ดินดังกล่าว อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นพื้นที่ที่ได้จัดสรรให้กับเกษตรกรและผู้ยากไร้ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่าเป็นที่ดิน คทช. แต่ปรากฏว่า มีนายทุนเข้าปลูกสวนทุเรียน นับพันไร่นั้น ทั้งยังพบว่ามีการนำรายชื่อเกษตรกร ไปขอรับการจัดสรรที่ดิน

เปิดที่มาโครงการจัดสรรที่ดิน ‘คทช.’ พบการคัดเลือกผู้ถือสิทธิยังไม่รัดกุมพอ

ทีมข่าวเดลินิวส์ ยังคงเกาะติดเรื่องการบุกรุกที่ดินของนายทุน ในพื้นที่โครงการ การจัดสรรที่ดินให้ชุมชน โดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ซึ่งทีมข่าวได้สัมภาษณ์พิเศษ นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการนโบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้ นายบารมี ได้กล่าวกับทีมข่าว และชวนพิจารณาถึง กฎเหล็ก หรือเงื่อนไขต่างๆ หลังจากที่ประชาชน ได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่จาก คทช. โดยได้รับแจกสมุด คทช. เพื่อเป็นการยืนยันว่า ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่ดิน ตามที่ คทช. กำหนด

นายบารมี ได้อธิบายเพิ่มเติม ว่า หลังจากที่ผู้ยื่นคำร้องขอใช้ที่ดินจาก คทช. และได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ บุคคลที่ได้รับสิทธิก็จะได้รับสมุดประจำตัว คทช. ซึ่งภายในสมุด คทช. จะมีข้อความเขียนระบุไว้ว่าสิทธิของผู้ได้รับสมุดประจำตัวก็ คือ สามารถอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย สามารถสืบทอดสิทธิให้กับทายาทตามกฎหมาย สามารถทำไม้ที่ปลูกขึ้นภายในที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสาธารณูปโภคและการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนด

ซึ่งในสมุด คทช. ยังได้ระบุว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด การใช้ที่ดินและเงื่อนไข ดังนี้ ข้อกำหนดก็คือ ต้องทำประโยชน์และหรืออยู่อาศัยด้วยตนเองหรือบุคคลในครอบครัวภายในขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับการจัดที่ดินเท่านั้น ห้ามซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม โอนสิทธิการเช่า หรือโอนสิทธิการครอบครองให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของหน่วยงานที่อนุญาตให้ใช้ที่ดิน สามารถตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมได้ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายต่างๆ ของหน่วยงานที่อนุญาตให้ใช้ที่ดิน

รวมทั้งข้อกำหนดที่จะกำหนดขึ้นใหม่ภายหลังด้วย ต้องให้ความยินยอมและอำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจสอบพื้นที่ที่จัดที่ดิน หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือผู้ได้รับการจัดที่ดินไม่ประสงค์จะใช้ที่ดิน ให้พิจารณายกเลิกการใช้ที่ดินและผู้ใช้ที่ดินต้องส่งคืนพื้นที่ ห้ามละทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยในที่ดิน ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อขยายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ทำกินเพิ่มเติม ต้องคอยสอดส่องตรวจตราและระมัดระวังไม่ให้มีการบุกรุกแผ้วถางป่าในบริเวณติดต่อใกล้เคียง ถ้าพบการบุกรุกแผ้วถางป่า ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร เป็นต้น ทราบทันที

ส่วนเงื่อนไขในสมุด คทช. ยังระบุไว้ว่า ต้องคอยสอดส่อง ดูแล ไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติมและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ให้หัวหน้าครอบครัวจัดทำรายงานการใช้ประโยชน์ที่ดินทุกๆ 1 ปี ต้องหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัชพืช ยกเว้นการกำจัดเชื้อเพลิงตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด ห้ามตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม หากจะตัดต้นไม้ที่ปลูกขึ้นให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนด ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการให้ข้อมูลด้านต่างๆ หากครัวเรือนใดมีการทำเกษตรกรรม ให้งดเว้นการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ต้องใช้ที่ดินให้เป็นไปตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำตามที่กรมป่าไม้กำหนด ต้องปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ และเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่จะกำหนดขึ้นภายหลัง

นายบารมี กล่าวต่อ หากพิจารณาดูสิทธิ ข้อกำหนดการใช้ที่ดิน และเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ปรากฏใน สมุด คทช. ล้วนแล้วแต่ทำให้เห็นว่าการอยู่ในพื้นที่ที่ได้ไรับอนุญาตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่ได้รับอนุญาตนั้น ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามข้อกำหนดต่างๆ ด้วย แต่หากดูโดยข้อเท็จจริงแล้ว ที่ผ่านมามีการปฏิบัติตามข้อกำหนด และเงื่อนไขต่างๆ หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ในเงื่อนไขบอกว่าจะต้องมีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ แต่ในพื้นที่จริงในหลายพื้นที่พบว่าเป็นแปลง สวนปาล์ม สวนยางพารา แม้กระทั่งสวนทุเรียน แล้วจะสามารถไปปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้จริงหรือไม่ หรือให้งดเว้นการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ตนมองว่า อย่างแปลงปลูกทุเรียน จะไม่มีการใช้สารเคมีจริงหรือไม่ ในความคิดของตน การปลูกทุเรียน อย่างไรก็ต้องใช้สารเคมี จะใช้มากหรือน้อย ก็อีกประเด็นหนึ่ง

ตนจึงมองว่า กฎเกณฑ์ ข้อกำหนด เงื่อนไข ต่างที่สร้างขึ้นมานั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้มากน้อยเพียงใด มีการตรวจสอบภายหลังจากการอนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้วหรือไม่ มีการเข้าตรวจสอบกันมากน้อยแค่ไหน เช่น หากที่ผ่านมามีการตรวจสอบกันเป็นระยะๆ แล้วทำไมไม่ปรากฏว่าแปลงอนุญาต ได้มีการปลูกเป็นสวนทุเรียนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำไมไม่สอดส่องดูแล และหากจะบอกว่า ที่ผ่านมา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่

ตนก็อยากจะขอถามว่า ขั้นตอนแรก ตั้งแต่มีการจัดสรรที่ดิน มีการผ่านคณะกรรมการต่างๆ ก่อนที่จะมีการอนุญาตออกสมุด คทช. ให้กับผู้แสดงตน ขั้นตอนในการดำเนินการในชั้นนี้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับรู้ด้วยหรือไม่ มีการทำประชาคมก่อนหรือไม่ ว่าจะมีการจัดสรรที่ดินทำกินของ คทช. ให้กับราษฎรรายใดบ้าง หรือ บางรายตามหลักเกณฑ์ ต้องเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นๆ มาก่อน แล้วทำไมคนในพื้นที่ไม่มีใครรู้ว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นใคร ในโครงการเป็นการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เป็นการจัดที่ดินแปลงรวม แต่เมื่อพิจารณาในข้อมูลที่ปรากฏต่างๆ แล้ว ในบางพื้นที่พบว่าการจัดที่ดินแบบแปลงรวม แต่ปรากฏว่า บางพื้นที่ในแปลงใกล้เคียงกัน กลับไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของแปลงดังกล่าว จึงมองได้ว่าหรือเป็นการจัดสรรที่ดินแบบส่วนตัว

นายบารมี ยังกล่าวเสริมว่า ตนตั้งข้อสังเกตในภาพรวมทั้งหมด มองว่า การจัดสรรที่ดินของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีอะไรหลายๆ อย่างที่ยังไม่มีความโปร่งใส มีพิรุธหลายประเด็น เช่น บางพื้นที่มีการซื้อขายที่ดินไปก่อนหน้าแล้ว แต่ตอนไปจัดหรือยื่นคำขอใช้ที่ดินต่อ คทช. คนที่ขายที่ดินก็จะเป็นผู้ไปยื่นเรื่อง ว่าตนเองมีสิทธิทำกินมาก่อน ซึ่งในระหว่างการยื่นเรื่องขอใช้ประโยชน์ในที่ดิน คทช. ผู้ที่ซื้อไป ก็เข้าไปดำเนินการปลูกสวนทุเรียน ควบคู่กันไป แต่เมื่อ คทช. อนุญาตให้ใช้ที่ดินตามที่มีผู้ยื่นคำขอ ตนมองว่า ทำไมไม่พบว่าพื้นที่แปลงที่ขอ มีสวนทุเรียนขึ้นอยู่ในพื้นที่ บางพื้นที่อาจเป็นร้อยไร่ แต่คณะอนุกรรมการ คทช. กลับไม่เห็นและยังจัดสรรให้ผู้ที่ยื่นคำขอรายละ 20-30 ไร่

ตนมองว่า เรื่องแบบนี้จะโทษชาวบ้าน หรือชุมชนอย่างเดี่ยวไม่ถูกต้อง ต้องโทษระบบราชการ และผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของพื้นที่จริง เช่น พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็ต้องโทษ กรมป่าไม้ด้วย หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ ก็ต้องโทษกรมที่ดิน ไม่ใช่อ้างว่า คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นผู้ดูแล ยกพื้นที่ให้ คทช. ไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริง พื้นที่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ

อย่างเช่น พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตอนที่ไปแจกสมุด คทช. ให้กับผู้ได้รับอนุญาต รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นผู้ไปแจกใช่หรือไม่ หรือในหนังสือลงนามการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ผู้อนุญาตก็คือ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในแต่ละพื้นที่ ก็เป็นคนลงนาม จะโทษ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ฝ่ายเดียว ไม่ได้ ต้องมองไปถึงขบวนการทั้งหมด ในการจัดสรรที่ดิน คทช. ว่าเป็นอย่างไร มีการดำเนินการต่างๆถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เป็นการจัดสรรที่ดินให้กับบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน จริงหรือไม่ เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้ จริงหรือไม่หรือ เป็นผู้ที่ทำกินอยู่ในที่ดินแปลงนั้นมาดั้งเดิม หรือไม่ ไม่ใช่ว่า พอเกิดปัญหาขึ้นมา สิ่งแรกที่หน่วยงานรัฐออกมาบอก ก็คือการกล่าวโทษชาวบ้านว่าได้ทำผิดอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ทำไมไม่มองด้วยว่าบางสถานการณ์หน่วยงานของรัฐเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งในความผิดที่เกิดขึ้นด้วย