นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีนโยบายจะให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 28 แห่ง ยกเว้นท่าอากาศยานตาก ซึ่งเป็นสนามบินที่ไม่ได้ใช้งานให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ เพื่อลดภาระงบประมาณที่รัฐต้องจัดสรรให้ ทย. ในการนำไปใช้บริหารจัดการสนามบิน แต่จากการหารือร่วมกันของทุกฝ่าย พบว่า มีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นจึงให้ชะลอการดำเนินการไปก่อน ซึ่งรวมถึง 3 สนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการด้วย โดยเรื่องนี้จะต้องไปชี้แจง ครม. ต่อไป

นางมนพร กล่าวต่อว่า เวลานี้เป้าหมายหลักของ ทย. ต้องเร่งพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัด ทย. ทั้ง 29 แห่ง ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบิน ตลอดจนเพิ่มเที่ยวบินต่างๆ ให้มาใช้บริการมากขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภูมิภาค นอกจากนี้ ต้องบริหารจัดการให้ทุกสนามบินมีการสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถนำมาเลี้ยงตัวเอง เชื่อว่าหากบริหารจัดการให้ดี แต่ละแห่งจะยืนอยู่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันยอมรับว่า ทย. ยังมีรายได้ที่ไม่ครอบคลุมรายจ่าย ซึ่งผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 ทย. มีรายได้ประมาณ 250 ล้านบาท รายจ่ายประมาณ 330 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 80 ล้านบาท

นางมนพร กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีมีไม่กี่สนามบินที่สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่ารายจ่าย และมีผลกำไร อาทิ ท่าอากาศยานกระบี่ มีกำไร 180 ล้านบาทต่อปี รวมถึงท่าอากาศยานขอนแก่น และท่าอากาศยานอุบลราชธานี มีกำไรรวมประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี และท่าอากาศยานอุดรธานี ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่ง ทย. จะนำรายได้ และกำไรของท่าอากาศยานเหล่านี้ ไปบริหารจัดการท่าอากาศยานแห่งอื่นๆ ของ ทย. ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ทย. ใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินต่างๆ ยังไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เชื่อว่าหากบริหารจัดการใหม่ และไม่ให้มีผู้มีอิทธิพลเข้าไปหาผลประโยชน์ จะทำให้รายได้ภาพรวมของ ทย. เพิ่มขึ้นประมาณ 30%

นางมนพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ทย. มีแผนก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ในหลายจังหวัด ได้แก่ ท่าอากาศยานนครปฐม, ท่าอากาศยานบึงกาฬ, ท่าอากาศยานมุกดาหาร, ท่าอากาศยานสตูล, ท่าอากาศยานสารสินธุ์, ท่าอากาศยานพะเยา และท่าอากาศยานพัทลุง เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม เห็นว่าควรเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ด้วย โดยได้มอบนโยบายให้ ทย. ศึกษารายละเอียด และรูปแบบ PPP เพิ่มเติม รวมถึงควรเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในการให้บริการของท่าอากาศยานต่างๆ อาทิ การซ่อมบำรุงอากาศยาน การให้บริการลานจอด และอุปกรณ์ภาคพื้น รวมถึงการให้บริการคลังสินค้า เป็นต้น เพื่อลดภาระงบประมาณรัฐ
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงคมนาคม ได้หารือเรื่องการเข้าบริหารสนามบิน ทย. กับ ทอท. อีกครั้ง รวมถึงทบทวนข้อดีข้อเสียของการดำเนินการดังกล่าว ยังมีปัญหาอีกมาก จึงมีความเห็นตรงกันว่า จะไม่โอนสิทธิบริหารให้ ทอท. แล้ว เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ การโอนย้ายบุคลากรจากภาครัฐมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งเรื่องเงินเดือน และสวัสดิการ ที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งการโอนย้ายครุภัณฑ์ต่างๆ และสินทรัพย์ของภาครัฐ ที่ต้องศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ สนามบินขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของ ทย. หากให้ ทอท. เข้ามาบริหารจัดการ ก็อาจจะเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐที่ต้องมาสนับสนุนสนามบินแห่งอื่นๆ มากขึ้น.