เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานพิธีเปิดชุมชนบ้านทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และโครงการสืบสานพิธีกรรมโนราบูชาหิ้ง โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง วัฒนธรรมจังหวัด 14 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ชาวชุมชนบ้านทะเลน้อย เครือข่ายทางวัฒนธรรม เข้าร่วมพิธี ที่อ่าวเจ้ ทะเลน้อย จ.พัทลุง

นายประสพ กล่าวว่า ชุมชนบ้านทะเลน้อย ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ และความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ มีความเข้มแข็งของชาวชุมชนที่ร่วมมือกันผลักดันและยกระดับแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีเศรษฐกิจวัฒนธรรมที่ดี สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบายของวธ. ที่ส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ ชูอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ยกระดับการบริการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายให้เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็น 1 ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หวังว่าสถานที่ชุมชนที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน จะประจักษ์ต่อสายตานักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สู่การร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ท่องเที่ยวอัตลักษณ์ชุมชนของไทย ปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชนไปด้วย

นายประสพ กล่าวด้วยว่า บ้านทะเลน้อย นับเป็นชุมชนเก่าแก่ที่สืบสานเรื่องโนรามาอย่างยาวนาน ทั้งยังทำให้พัทลุงเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศิลปินโนรามากที่สุดด้วย และยังมีตำนาน “ชายน้อย” ที่นำการรำโนรามาสู่บ้านทะเลน้อย ทำให้ในทุกปีจะมีพิธีบูชาหิ้งเพื่อระลึกถึงชายน้อย เป็นการแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์ ซึ่งมีตำนานกล่าวว่า ชายน้อยได้ให้สัจจะวาจา “เพียงแค่ผูกผ้าขาวบนขื่อเพดานสูง พร้อมหมากพลู ตั้งไว้เป็นสัญญา เมื่อนั้นจะมาร่ายรำโนราให้ชมกันอีก” ปัจจุบัน ชุมชนทะเลน้อย มีประชาชนที่สืบเชื้อสายโนรา หรือมีบรรพบุรุษเป็นโนรา นับถือโนรา มากกว่า 170 สายสกุล มีหิ้งโนราที่ตั้งไว้บูชาครูหมอ ตา ยาย โนรา อยู่ตามบ้านเรือนที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ในย่านชุมชนหนาแน่นริมทะเลน้อย มากกว่า 142 หิ้ง ถือได้ว่าชุมชนทะเลน้อย มีภูมินิเวศวัฒนธรรม ที่มีผู้สืบเชื้อสายสกุลโนราและมีหิ้งโนรามากที่สุดในชุมชนเดียว บรรดาเหล่าลูกหลานโนราและผู้ที่มีจิตศรัทธา จะจัดพิธีกรรมโนราโรงครูกันเป็นประจำทุกปี ในห้วงระยะเวลา เดือน 3 เดือน 6 และเดือน 9 พิธีกรรมโนราโรงครูถือเป็นกุศโลบายในการอนุรักษ์ สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม ผ่านคติชนความเชื่อของท้องถิ่น ที่มีรูปแบบเฉพาะอันเป็นอัตลักษณ์

ปลัดวธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์การทอกระจูด ที่ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนทอกระจูดเป็น มีสินค้าจากการทอกระจูดโด่งดังไปถึงต่างประเทศ และมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ คือ ทะเลน้อย ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ ล่องเรือชมดอกบัว ดูนก ดูควายน้ำ ซึ่งเป็นคำเรียก ควายที่เลี้ยงโดยรอบทะเลน้อย ที่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำในทะเลน้อยมีปริมาณน้ำสูง ท่วมทุ่งหญ้าท่วมแหล่งหากินของควาย ควายเหล่านี้จึงมีการปรับตัวเปลี่ยนมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว