วันนี้ (5 มี.ค. 2568) เว็บไซต์ไลฟ์ไซแอนซ์เผยแพร่ข่าวของทีมนักวิทยาศาสตร์ในจีน ค้นพบฟอสซิลของแมงป่องยักษ์จากยุคครีเทเชียสซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อน คาดว่า สัตวชนิดนี้จะเคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 125 ล้านปีก่อน

แมงป่องพิษชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าแมงป่องทั้งยุคโบราณและยุคปัจจุบันหลายสายพันธุ์ นักวิจัยเชื่อว่ามันน่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มีความสำคัญในระบบห่วงโซ่อาหาร อาหารของมันคือแมงมุม จิ้งจก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในระบบนิเวศยุคเดียวกัน

ทีมวิจัยได้รายงานการค้นพบนี้ในวารสาร Science Bulletin เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า แมงป่องชนิดนี้เป็นฟอสซิลแมงป่องสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนบกชนิดที่ 4 ที่พบในประเทศจีน และเป็นฟอสซิลแมงป่องยุคมีโซโซอิกชนิดแรกที่พบในประเทศจีน

หวงตี้อิง นักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาแห่งหนานจิง ประเทศจีน ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาครั้งนี้ชี้ว่า ซากแมงป่องส่วนใหญ่ในยุคมีโซโซอิก (ประมาณ 252 ล้านถึง 66 ล้านปีก่อน) จะคงสภาพอยู่ในก้อนอำพัน แมงป่องที่กลายเป็นฟอสซิลจึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่ามาก เนื่องจากสัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ใต้ก้อนหินและกิ่งไม้ ซึ่งมีโอกาสน้อยกว่าที่จะติดอยู่ในตะกอนและกลายเป็นฟอสซิล

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลนี้ในชั้นหินอี่เซียน ซึ่งเป็นแหล่งรวมฟอสซิลของยุคครีเทเชียสตอนต้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทีมวิจัยตั้งชื่อแมงป่องสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า เจโฮเลีย หลงเฉิงจี (Jeholia longchengi) โดย “เจโฮเลีย” หมายถึง เจโฮ ไบโอตา พื้นที่ระบบนิเวศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 133 ล้านถึง 120 ล้านปีก่อน ส่วน “หลงเฉิงจี” หมายถึงตำบลหลงเฉิง เมืองเฉาหยาง ประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของฟอสซิลชิ้นนี้ในปัจจุบัน

แมงป่องเจโฮเลีย หลงเฉิงจีมีความยาวประมาณ 4 นิ้ว (10 เซนติเมตร) ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ใหญ่มากในยุคของมัน “แมงป่องในยุคมีโซโซอิกชนิดอื่นมีขนาดเล็กกว่านี้มาก โดยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กประมาณครึ่งหนึ่งของสปีชีส์ใหม่ๆ” หวงอธิบาย 

เจโฮเลีย หลงเฉิงจีมีลำตัวเป็นรูปห้าเหลี่ยมและมีรูหายใจทรงกลม ซึ่งเป็นช่องเปิดบนลำตัวที่ช่วยให้มันหายใจได้ ลักษณะเหล่านี้คล้ายกับลักษณะที่พบในแมงป่องบางวงศ์ในปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของเอเชีย แต่มันมีขาค่อนข้างยาวและก้ามหนีบทรงเรียวบาง ไม่มีเดือยแหลมตามข้อต่อขา

ทีมวิจัยชี้แจงว่า มีการพบฟอสซิลของสัตว์อื่นๆ หลายชนิด เช่น ไดโนเสาร์ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมลงระบบนิเวศเจโฮ ไบโอตา แสดงถึงห่วงโซ่อาหารที่ซับซ้อน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและไดโนเสาร์ขนาดใหญ่อาจล่าแมงป่องเจโฮเลียฯ เป็นอาหาร ส่วนตัวมันเองก็ล่าแมลง แมงมุม กบ กิ้งก่าหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม ฟอสซิลที่พบนี้ไม่มีส่วนปากของแมงป่อง ดังนั้นจึงยากที่จะทราบแน่ชัดว่ามันกินอะไรเป็นอาหาร ทีมวิจัยเชื่อว่า การค้นพบตัวอย่างฟอสซิลเพิ่มเติมอาจช่วยระบุบทบาทของสปีชีส์นี้ในระบบนิเวศและตำแหน่งในห่วงโซ่อาหารได้ชัดเจนขึ้น

หวงกล่าวว่า หากแมงป่องพันธุ์นี้มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน มันอาจกลายเป็นผู้ล่าตามธรรมชาติของสัตว์เล็กหลายชนิด และอาจล่าลูกสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กได้ด้วยซ้ำ 

ขณะนี้ ฟอสซิลดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฟอสซิลแวลลีย์ ในเมืองเฉาหยาง ประเทศจีน

ที่มา : livescience.com

เครดิตภาพ :  NIGPAS