กระทรวงศึกษาธิการ เปิดไทมไลน์การดำเนินการเรื่องยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

1) เรื่องทรงผม เดิมถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่1 และ 2 ออกตาม ปว 132 จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ก็ยังถือปฏิบัติตลอดมาตามบทเฉพาะกาลเพราะยังไม่ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่

2) ปี 2548 ออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาแต่ไม่ได้กำหนดเรื่องของทรงผม ยังคงถือปฏิบัติต่อมา

3) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แจ้งมายังกระทรวงศึกษาธิการว่าเราควรจะมีระเบียบกลางเกี่ยวกับเรื่องทรงผมเพื่อเป็นแนวทาง เนื่องจากมีนักเรียนไปร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะสถานศึกษาแต่ละแห่งปฏิบัติไม่เหมือนกัน 

4) ปี 2563 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยทรงผมนักเรียนโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546

5) เดือนสิงหาคม 2565 นักเรียนร้องเรียนมายังกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับทรงผมดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเราจึงได้หารือเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 

6) สำนักงานคณะกรรมการกษฎีกา ได้ตอบข้อหารือ กฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) สิ้นผลใช้บังคับนับแต่วันที่กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียน พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับ และกระทรวงศึกษาธิการไม่อาจออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการพ.ศ. 2546 เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนเพื่อใช้บังคับแก่นักเรียนโดยตรงได้

แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการอาจกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนและแจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาเพื่อให้สถานศึกษาออกระเบียบของสถานศึกษาเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 39 (1) พรบ.ศธ. 2546

7) ปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกระเบียบกระทรวงเพื่อยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน พ.ศ. 2563 และขณะเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกนโยบายแจ้งเวียนไปยังส่วนราชการและสถานศึกษา มีสาระสำคัญ กล่าวคือ จัดให้มีระเบียบของสถานศึกษาเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน โดยผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นักเรียน และต้องขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสถานศึกษาหรือ คณะกรรมการบริหารโรงเรียน รวมทั้งเผยแพร่ระเบียบดังกล่าวให้นักเรียนทราบต่อไป

8) 21 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงศึกษาธิการแจ้งครูและสถานศึกษาในสังกัดถึงการระมัดระวังการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ต้องเป็นไปตามแนวทางการลงโทษ​ 4​ สถานเท่านั้น​ คือ​ ว่ากล่าวตักเตือน ทําทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทํากิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม​ ช่วย​กันปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับบริบทสังคม

9) 3 มกราคม 2568 กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำเรื่องยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน โดยให้สถานศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้เรียน ส่งเสริมความหลากหลายและเป็นธรรมในทุกด้าน