จากกรณีการประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) วันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเพื่อมีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ โดยที่ประชุมมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (ฐานอั้งยี่) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

โดยมติที่ประชุมได้ให้คณะพนักงานสืบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำเนินการในประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจในการดำเนินการตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือเป็นอำนาจของเลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง และให้ดำเนินการเสนอเรื่องผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) อีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 3/2568 วันที่ 6 มี.ค. เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) พิจารณามีมติต่อไป ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงภายในบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ว่า สำหรับกรณีที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการ กคพ. มีหนังสือเชิญ กกต. เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายที่กรรมการบางท่านยังอาจมีข้อสงสัย ในวันที่ 5 มี.ค. ก่อนถึงวันประชุมบอร์ดฯ 6 มี.ค. นั้น ล่าสุดทาง กกต. ยังไม่ได้แจ้งหนังสือตอบรับมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การไม่ได้หารือกับ กกต. ในวันนี้จะไม่ส่งผลต่อการประชุมในวันที่ 6 มี.ค. เพราะท้ายสุดแล้วกรรมการก็จะมีการพิจารณาด้วยข้อมูลที่มีต่อไปได้ ส่วนทาง กกต. เองก็คงไม่จำเป็นต้องส่งผู้แทนท่านใดมาร่วมประชุมกับบอร์ดฯ เนื่องด้วยตามโครงสร้างของบอร์ด กคพ. ไม่ได้มีสัดส่วนของ กกต. อยู่ในฐานะกรรมการ แต่เพียงแค่ครั้งนี้เรามีความประสงค์เชิญ กกต. มาร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้บางประเด็นกระจ่างขึ้นเท่านั้น

แหล่งข่าวเผยอีกว่า ส่วนการประชุมบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษในวันที่ 6 มี.ค. จะเริ่มประชุมในเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 10-01 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 3/2568 ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เจ้ากรมพระธรรมนูญ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 9 ราย ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการและเลขานุการ

แหล่งข่าวเผยต่อว่า ส่วนแนวโน้มสถานการณ์การลงมติรับหรือไม่รับคดีฮั้ว สว. 67 เป็นคดีพิเศษนั้น ไม่สามารถประเมินได้ เพราะอย่างไรก็ต้องรอฟังผลการหารือของกรรมการทุกท่านในที่ประชุม อีกทั้งจะได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่าในกรณีที่มติที่ประชุมได้ให้ไปดำเนินการเสนอเรื่องผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษก่อนเข้าบอร์ดในวันที่ 6 มี.ค. นั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ โดย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยอนุกรรมการฯ รวม 13 ท่านก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมเข้ามาว่าเห็นควรรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากอนุกรรมการฯ ได้เห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า มันมีความผิดอาญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 ววรคหนึ่ง (ก) – (จ) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน ส่วนหากบอร์ด กคพ. จะมีมติเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ก็เป็นดุลพินิจของกรรมการทั้ง 22 ท่านภายในบอร์ดฯ

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า สำหรับความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างมาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จริง ๆ แล้วไม่ได้ตัดอำนาจหน่วยงานใด เว้นแต่ กกต. จะขอรับโอนเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไปดำเนินการเอง ซึ่งหมายความว่าหากในวันที่ 6 มี.ค. บอร์ด กคพ. มีความเห็นให้รับคดีอาญาอื่นรวมถึงคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้เป็นคดีพิเศษด้วยนั้น กกต. ก็จะต้องแจ้งว่า กกต. จะรับเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ดำเนินการเอง หรือจะให้ดีเอสไอดำเนินการ ถ้าหากว่า กกต. จะรับไปดำเนินการ เราก็ต้องส่งรายละเอียดคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ กกต. ภายใน 7 วัน ทั้งนี้ เท่าที่ทราบ กกต. จะมีกระบวนการไต่สวน และยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการตัดสิทธิ์เท่านั้น โดยที่ผ่านมา กกต. จะไม่ดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลใด แต่ กกต. จะให้หน่วยงานพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ดำเนินการแทน

แหล่งข่าวยังระบุถึงการทำสำนวนสอบบสวนคดีฮั้ว สว. 67 หากบอร์ด กคพ. รับไว้เป็นคดีพิเศษ ว่า ทางดีเอสไอก็จะต้องมีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมา พร้อมกับตั้งเจ้าพนักงานจากหน่วยงานอื่นมาร่วมเป็นพนักงานสอบสวนด้วย เพราะเราจะไม่ทำสำนวนฝ่ายเดียว แต่ต้องเชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาทำการสอบสวนร่วมกัน เพื่อดำเนินการสอบสวนให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและมีประสิทธิภาพ และจะได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล หรือชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ความจริง

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า สำหรับหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่เข้าหารือถึงแนวทางการตอบคำถามที่ได้ถามสำนักงาน กกต. ใน 2 คำถาม และในหนังสือระบุว่า ขอให้ส่งเลขาธิการ กกต. หรือผู้แทน กกต. มาตอบคำถามเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมาย และการดำเนินการตามมาตรา 49 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ในการประชุมกับคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ในวันที่ 6 มี.ค. นี้ พบว่ารายละเอียดภายในหนังสือตอบกลับของ กกต. สรุปใจความสำคัญได้ว่า ให้หน่วยงานสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานได้ ไม่มีความจำเป็น ต้องรอทาง กกต. เพราะกฎหมายของ กกต. ไม่ได้เป็นการตัดอำนาจการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด นอกจากนี้ ในวันที่ 6 มี.ค. จะไม่ได้มีผู้แทนของ กกต. เข้าร่วมประชุมบอร์ด กคพ. ด้วยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปรากฏว่า พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้แจ้งลาการประชุมเป็นครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลติดภารกิจราชการ ซึ่งในการประชุมบอร์ด กคพ. ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งคู่ก็ได้ลาการประชุมด้วยเหตุติดภารกิจราชการและมีอาการเจ็บป่วย แต่ถึงแม้จะไม่มีผลเรื่องโทษจากการไม่ร่วมประชุม แต่เมื่อครบกำหนดวาระ 2 ปี ก็คงต้องมีการแต่งตั้งผู้อื่นมาทำหน้าที่แทน ต้องขอให้ผู้ที่ไม่สะดวกมาทำหน้าที่ได้ยื่นลาออก หรือภายในบอร์ดฯ ต้องมีการเสนอให้ลาออก เพราะเมื่อเป็นวาระระดับประเทศ ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อออกความคิดเห็น แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้อื่นมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน ซึ่งการจะแต่งตั้งผู้ใดมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนกันนั้น จะต้องมีการเสนอรายชื่อ แต่งตั้ง และรายงานต่อที่ประชุม ครม.

“การประชุมวันที่ 6 มี.ค. ทางดีเอสไอจะมีการเสนอให้บอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับทราบว่า ดีเอสไอจะรับผิดชอบสอบสวนคดีฮั้ว สว. 67 ไว้เป็นคดีพิเศษ ในฐานความผิดอาญามาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ส่วนทางสำนักงาน กกต. จะทำเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิกถอน เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว ปิดท้าย.