“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง ประกอบด้วย บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด, บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด, บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท เค เอส ร่วมค้า จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 28,679 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างแล้ว ทั้งแรงงาน และเครื่องจักรต่างๆ ล่าสุดได้จัดหา และเตรียมพื้นที่เริ่มก่อสร้างแคมป์คนงานก่อสร้างใน จ.ขอนแก่น แล้ว

ทันทีที่ได้รับมอบพื้นที่ก่อสร้างจาก รฟท. ทางกิจการร่วมค้า ช.ทวี-เอเอส ก่อสร้าง พร้อมเข้าเริ่มงานทันที โดยจุดแรกที่จะเข้าพื้นที่คาดว่าจะเป็นบริเวณย่านสถานี รฟท. คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างของ รฟท. ประมาณ 90% พร้อมทั้งออกหนังสือแจ้งให้ผู้รับจ้างเริ่มงาน (NTP) ได้ประมาณเดือน เม.ย. 2568 ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ส่วนพื้นที่เวนคืนชาวบ้านที่จะนำมาใช้ก่อสร้างอีกประมาณ 184 ไร่ จะส่งมอบให้ผู้รับจ้างได้ในภายหลัง เนื่องจากร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินโครงการฯ ยังไม่ได้ประกาศมีผลบังคับใช้ โดยตั้งงบประมาณปี 2568-2569 สำหรับใช้เวนคืนที่ดินไว้แล้ว 369 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยส่งมอบพื้นที่เวนคืนให้ผู้รับจ้างได้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปี

พื้นที่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการก่อสร้าง อาทิ สะพานข้ามทางรถไฟ และปรับความโค้งของทางให้ตรง เป็นต้น ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ในปี 2571 คาดว่าในปีแรกของการเปิดบริการปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ 3,300 คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 5,500 คนต่อวันในปีที่ 30 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 3.30 ล้านตันต่อปีในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันในปีที่ 30
โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นเส้นแรกของโครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ที่มีทั้งหมด 7 เส้นทาง เชื่อม 3 จังหวัด ขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย มีความสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางจากช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาดทาง 1.00 เมตร เพิ่มขึ้น 1 ทาง ขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม และปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน

ส่วนใหญ่เป็นทางระดับดิน ระยะทาง 159.5 กม. เป็นทางยกระดับ 2 แห่ง ระยะทาง 9.5 กม. มี 15 สถานี 2 ที่หยุดรถ เป็นชานชาลาสูงทั้งหมด และยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง ก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 31 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ 53 แห่ง และก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ

สำหรับสถานีและที่หยุดรถ ประกอบด้วย สถานีขอนแก่น, สถานีสำราญ, สถานีโนนพยอม, ที่หยุดรถบ้านวังชัย, สถานีน้ำพอง, สถานีห้วยเสียว, สถานีเขาสวนกวาง, สถานีโนนสะอาด สถานีห้วยเกิ้ง, สถานีกุมภวาปี, สถานีห้วยสามพาด, สถานีหนองตะไก้, ที่หยุดรถคำกลิ้ง, สถานีหนองขอนกว้าง, สถานีอุดรธานี, สถานีนาพู่, สถานีนาทา และสถานีหนองคาย จะทำให้โครงข่ายทางรางของประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศไทย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศจีน ด้วย