เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงความคืบหน้าผลการสอบสวน 119 คนไทย ที่ถูกจับกุมในปอยเปต และส่งกลับมาดำเนินคดีในไทย โดยมีผู้ถูกที่ตกเป็นผู้ต้องหา 100 คน
พล.ต.อ.ธัชชัย เปิดเผยว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ ใช้วิธีการหลอกลวงหลายรูปแบบ ทั้งการเทรดหุ้น โรแมนซ์สแกม เปิดเว็บพนันออนไลน์ รวมถึงหลอกเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ที่ดิน จาก 119 คน ถูกดำเนินคดีแล้ว 100 คน ส่วนอีก 15 คน ที่ไม่ถูกออกหมายจับ อยู่ระหว่างการขยายผลถึงพยานหลักฐานเพิ่มเติม เนื่องจากเบื้องต้นพบว่าไปทำงานเกี่ยวกับพนันออนไลน์ แต่ส่วนอีก 4 คนที่เป็นเยาวชน อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเช่นกัน

ส่วนการดำเนินการขยายผลหาตัวบอสชาวจีนนั้น พบพฤติกรรมว่าชาวจีนทั้ง 3 ราย ที่เป็นระดับบอส มีหน้าที่สั่งการและกำหนดการจ่ายเงิน รวมถึงกำกับดูแลแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ เบื้องต้นได้มีการสเกตช์ภาพจากคำให้การของผู้ต้องหา จนสามารถออกหมายจับได้ 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายจับ โดยหลังจากนี้ จะร่วมมือกับทางการจีนทำการขยายผลว่าบุคคลทั้ง 3 รายเป็นใคร แต่เบื้องต้นยังไม่พบประวัติหรือหมายจับของตำรวจสากลแต่อย่างใด

พล.ต.อ.ธัชชัย ยอมรับว่ากระบวนการคัดกรองตามกลไก NRM ในอดีต ทีมสหวิชาชีพยากที่จะพิสูจน์ทราบว่าเป็นเหยื่อที่แท้จริงหรือไม่ ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีใครถูกดำเนินคดี จึงทำให้คนไทยขายชาติ มักใช้เป็นช่องทางในการกลับไปกระทำผิดซ้ำ แต่กระบวนการคัดกรองในครั้งนี้ ได้เพิ่มมิติในเรื่องของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเข้าไปช่วยในการสืบสวนและตรวจสอบด้านเทคโนโลยี รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 100 นาย ทำให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐานที่สามารถเอาผิดคนไทยที่กระทำผิดได้ โดยเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกนับ 1,000 คน ที่ร่วมอยู่ในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อหลอกคนไทยด้วยกัน

ดังนั้น หลังจากนี้ทางการไทยได้ร่วมกับทางการกัมพูชา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ไม่ได้มีทางการจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยทั้งสองประเทศจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันถึงที่ตั้งของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทางการไทยจะมีการขอให้ส่งตัวคนไทยทั้งหมดมาลงโทษในประเทศไทย เนื่องจากบทลงโทษที่กัมพูชาเป็นโทษเบา เพราะเป็นเรื่องของการเข้าเมืองผิดกฎหมายและการทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่เมื่อดำเนินคดีในประเทศไทย จะมีโทษหนักจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะไม่หลอกลวงคนกัมพูชา แต่จะหลอกลวงคนไทย

ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา รวมถึงมาตรการตัดไฟ ตัดน้ำมัน ตัดเน็ต ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้สถิติการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลงถึง 30% และจากการตรวจสอบกลุ่มที่เป็นเหยื่อขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.-26 ก.พ. พบว่าการเดินทางการเดินทางไปฝั่งเมียวดี ไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย และทุกคน สมัครใจในการเดินทางไปทำงานเอง.
