“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาห กรรม เปิดเผยภายหลังรับฟังความคิดเห็นของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ได้กำหนดเป้าหมายการชี้วัด (เคพีไอ) ต้องเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นอีก 1% ภายในปี 68 โดยเน้นลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ และอุตสาหกรรมสีเขียว การให้ความรู้แก่บุคลากร ให้มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการลดขั้นตอนการอนุมัติ-อนุญาต รวมทั้งโครงการส่งเสริมเอสเอ็มอี พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ การสร้าง
อีโคซิสเตมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เน้นส่งเสริมจีดีพีผ่านภาคอุตสาหกรรม

พร้อมตั้งเป้าขยายฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการผลักดันพระราชบัญญัติโซลาร์เซลล์ ที่ในอนาคตผู้ประกอบการสามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องขออนุญาต รวมถึงการปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ที่สำคัญต้องดูว่า ต้องทำอย่างไรที่จะพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืน

ด้าน “สุเมธ ตั้งประเสริฐ” กรรมการ กนอ.รักษาการตำแหน่งผู้ว่าการกนอ. ระบุว่า รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กนอ. ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จากเดิม 9 ขั้นตอน เหลือเพียง 8 ขั้นตอน เพื่อลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินโครงการ รวมทั้งให้เร่งการอนุมัติโครงการโดยอนุญาตให้ประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ ก่อนรายงานอีไอเอ จะเห็นชอบ ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมขาย 23,662 ไร่ และมีพื้นที่เสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 4,959 ไร่

รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะจัดตั้งหรือขยายในอนาคตอีก 27 โครงการ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 71,243 ไร่ โดย กนอ. ได้เร่งรัดกระบวนการขออนุญาตเรื่องการประกาศเขตเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้เร็วขึ้น โดย กนอ. พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยจะประสานความร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย แก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเติบโตจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1% ในปี 68.